วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2560

นิตยสารฟรีก็อปปี้ 3 ภาษา จ.สุราษฎร์ธานี "เมืองคนดี" วางแผงแล้ว...ติดตามอ่านได้ที่ http://borkorpom.blogspot.com https://issuu.com/pomdemandgroup

นิตยสารฟรีก็อปปี้ 3 ภาษา จ.สุราษฎร์ธานี
นิตยสาร "เมืองคนดี" วางแผงแล้ว...ติดตามอ่านได้ที่
http://mkdsuratnews.blogspot.com
https://issuu.com/pomdemandgroup
หรือ  ติดตามได้ทาง Facebook Fanpage : เมืองคนดี
https://www.facebook.com/mkd999/
Twitter : @borkorpom
https://twitter.com/BorKorPom
Line : mkd999


วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2560

‘การเลือกทำดี ย่อมนำไปสู่สิ่งที่ดีเสมอ’ และชีวิตของเขาคนนี้ (ดิลก ธโนศวรรย์) ก็คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าประโยคนี้เป็นจริง !!!

Deroke Tanosawan
ดิลก ธโนศวรรย์
"do good for good"
Story : Peeraya   Photo :  Pom (Demand Group)

......ถ้าจะพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวบนฝั่งที่ถือว่าเป็นแม่เหล็กชั้นดีที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้เดินทางมาเยือนจังหวัดสุราษฎร์ฯได้เป็นจำนวนมากหลายปีมานี้คงไม่มีที่ไหนมาแรงเท่า ‘กุ้ยหลินเมืองไทย’ ซึ่งเป็นฉายาที่นักท่องเที่ยวต่างเห็นด้วยในทันทีที่ได้ยลความงดงามของธรรมชาติในบริเวณอ่างเก็บน้ำ อันเป็นผลพลอยได้จากการสร้าง ‘เขื่อนรัชชประภา’

......เขื่อนรัชชประภาเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่ 2 ของภาคใต้ที่ได้สร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและชาวจังหวัดใกล้เคียง ใช่เพียงแค่การทำหน้าที่หลักคือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ป้องกันอุทกภัย บรรเทาปัญหามลพิษทางน้ำ และเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนให้เกษตรกรทำไร่นา ทำประมงได้ตลอดทั้งปีเท่านั้น แต่ความงามและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในเขื่อน รวมถึงทัศนียภาพมหัศจรรย์ของอ่างเก็บน้ำสีมรกตที่รายล้อมด้วยขุนเขารูปร่างแปลกตา ยังสามารถเชื้อเชิญผู้คนให้หลั่งไหลมาสัมผัสและจับจ่ายมากถึงปีละเกือบ 200,000 คนเลยทีเดียว... อีกทั้งปีนี้รัฐบาลและจังหวัดยังคงเร่งผลักดันการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทีมงานเมืองคนดีจึงได้เดินทางมาพูดคุยกับ ‘คุณดิลก ธโนศวรรย์’ ผู้อำนวยการเขื่อน ถึงเรื่องราวดีๆ ที่เขื่อนได้ดำเนินการสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด และเมื่อสบโอกาสดีอย่างนี้ เราย่อมไม่ยอมพลาดการพูดคุยถึงการดำเนินชีวิตที่นำพาความสำเร็จและความภาคภูมิใจมาสู่ตัวของคุณดิลกและครอบครัวด้วย

องค์กรมีธรรมาภิบาลนำบุคลากรสู่ความสำเร็จ
.....หลังจากการต้อนรับที่อบอุ่นและพูดคุยสัพเพเหระพอหอมปากหอมคอจนกาแฟพร่องไปค่อนถ้วย...คุณดิลกก็เริ่มรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งยังเด็กว่า...เขาเกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ  ในครอบครัวที่มีเชื้อสายจีน คุณพ่อของเขายึดอาชีพค้าขายตามความถนัดที่มีอยู่ในสายเลือดและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของครอบครัว โดยมีคุณแม่เป็นช้างเท้าหลังที่เข้มแข็งเพราะต้องเลี้ยงลูกมากถึง 8 คน พร้อมกับเล่าถึงสิ่งที่หล่อหลอมให้ตัวเขาเป็นเช่นที่เป็นจนนำพาความสำเร็จในอาชีพการงานมาสู่ตนเองในวันนี้ว่า...“พวกเราพี่น้อง 8 คนมีพี่สาวคนโตเป็นผู้หญิงอยู่คนเดียว นอกนั้นเป็นชายล้วนครับ (ยิ้ม) ตัวผมเป็นคนที่ 3 เด็กๆ พ่อแม่จะปลูกฝังลูกๆ อย่างมากเป็นพิเศษในเรื่องความขยันอดทน และตัวท่านเองก็ทำให้เราเห็นทุกวัน ผมได้เห็นทั้งสิ่งดีที่ท่านเพียรพยายามทำ และได้เห็นผลลัพธ์ที่ดีจากการทำสิ่งนั้น ผมจึงติดนิสัยนั้นมาจากท่านซึ่งเป็นสิ่งทีมีค่ามากสำหรับผม (ยิ้ม) เพราะที่ชีวิตสำเร็จมาได้ทุกวันนี้ก็ด้วยความขยันอดทนเป็นหลักครับ คนเราถ้ามี 2 อย่างนี้ก็จะนำสิ่งดีอื่นๆ ตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นความพยายาม ความรับผิดชอบ และมีวุฒิภาวะในการรับมือกับอุปสรรคต่างๆ ...ตั้งแต่เด็กผมจะเป็นคนรักการอ่านครับ การเรียนจึงจัดอยู่ในระดับดี ผมเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรโยธาจากสถาบันพระจอมเกล้า ธนบุรี (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) จากนั้นก็สมัครงานไปทั่ว ผมสนุกกับการทำงานเอกชนอยู่ประมาณ 2 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็เรียกตัวสารภาพตามตรงว่าตอนนั้นผมยังลังเลเพราะงานเอกชนมีรายได้ดีพอสมควร แต่พ่อกับแม่อยากให้ทำงานการไฟฟ้าเพราะมองว่าเป็นหน่วยงานที่มั่นคง ที่ทำงานก็อยู่ใกล้บ้าน ผมก็ตามใจท่านเพราะอยากเห็นท่านมีความสุข ซึ่งเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อบุพการีทางหนึ่งครับแต่เมื่อเข้ามาทำงานผมก็พบว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้เข้ามาในองค์กรนี้ เพราะผมได้เรียนรู้สิ่งที่มีค่ามากกว่าความขยันอดทน นั่นคือหลักธรรมาภิบาล (ยิ้ม) ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ทำงานมา ผมไม่เคยพบเห็นใครในองค์กรมีนอกมีใน เรามีแต่ความโปร่งใส ทุกคนเติบโตด้วยฝีมือ ด้วยความสามารถในการรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่การวิ่งเต้น ตัวผมเองจะเข้าพบนายก็ต่อเมื่อมีเรื่องจำเป็นเท่านั้น ผมได้พิสูจน์ว่าคนเราสามารถไต่เต้าก้าวหน้าด้วยความสามารถไปตามลำดับจนมาถึงจุดสูงสุดในอาชีพได้โดยไม่ต้องใช้วิธีอื่น องค์กรที่มีธรรมภิบาลสูงจะขับเคลื่อนบุคลากรภายในองค์กรนั้นๆ ให้ดึงศักยภาพที่แท้จริงออกมาจนกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าทั้งต่อตัวเอง ต่อสังคม และต่อประเทศ... ผมเริ่มต้นงานโดยบรรจุในตำแหน่งวิศวกร ประจำอยู่ที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรีครับ จากนั้นก็ขยับมาเป็นหัวหน้ากองโยธา ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานมากคือแค่ 4 วันก็จะครบ 20 ปี (ยิ้ม) แล้วก็ย้ายมาเป็นหัวหน้ากองโยธาที่เขื่อนวชิราลงกรณ ต่อมาก็มาประจำที่เขื่อนรัชชประภา นี่เป็นลักษณะปกติขององค์กรเราที่จะมีการโยกย้ายไปประจำที่นั่นที่นี่ครับ ชีวิตการงานของผมจะวนเวียนอยู่ที่ 3 เขื่อนนี้ ผมมาประจำอยู่ที่เขื่อนรัชชประภาครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2546 มาประจำครั้งที่ 2 ในตำแหน่งรองผอ. ในปี 2550 ครั้งนี้อยู่นาน 4 ปี แล้วได้กลับมารับตำแหน่งผอ.เขื่อนรัชชประภาเมื่อตุลาคม 2557 นี่เป็นการกลับมาครั้งที่ 3 ครับ (ยิ้ม) สมัยหนุ่มๆ ผมไฟแรงมาก (ยิ้ม) ผมจะพยายามทำงานในหน้าที่รับผิดชอบหรือตามที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จโดยเร็ว ผมจะบอกเพื่อนฝูงอยู่เสมอว่ายิ่งเราทำงานเสร็จเร็วเท่าไร เราก็จะได้ทำงานชิ้นใหม่เร็วขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้ตัวเราและองค์กรเดินหน้าไปได้เร็วด้วย แต่ต้องมีความรอบคอบที่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าประสงค์ได้ด้วยนะครับ เดี๋ยวนี้ผมก็ยังนำหลักการนี้มาสอนน้องๆ อยู่ (ยิ้ม) นอกเหนือจากความขยันอดทนแล้ว เรายังต้องมีความเสียสละเวลาส่วนตนเพื่อผู้อื่นด้วย เพราะงานของเราไม่มีวันหยุดนะครับ ต้องพร้อมเสมอสำหรับการทำงานแม้เป็นวันเสาร์-อาทิตย์ บางครั้งก็ต้องรับรองแขกทั้งในองค์กรของเราเองและแขกบ้านแขกเมือง บางครั้งก็ต้องไปพบปะผู้บริหารท้องถิ่นหรือชาวบ้านเพื่อการประสานงานร่วมกันในการสร้างประโยชน์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นกับท้องถิ่นครับ”


....บริหารจัดการน้ำเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ทราบกันดีว่าหน้าที่หลักของเขื่อนก็คือการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน แต่เขื่อนมีการดำเนินการอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะยังไม่เห็นภาพชัดนัก อีกทั้งในช่วงเวลาปีสองปีนับจากนี้มีการคาดการณ์จากนักวิชาการด้านภูมิอากาศโลกว่าประเทศไทยและเพื่อนบ้านใกล้เคียงจะต้องเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งที่หนักหน่วงที่สุดในรอบหลายสิบปี สถานการณ์ของสุราษฎร์ฯ จะเป็นเช่นไร นั่นเป็นเรื่องที่หลายคนยังกังวล โดยเฉพาะเกษตรกรทั้งหลาย... 
“โดยปกติจะมีศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ เป็นผู้ประสานงานเรื่องการระบายน้ำของเขื่อน ผมจะเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า เขื่อนก็เหมือนตุ่มน้ำใบหนึ่งที่เราเก็บน้ำไว้ใช้ทั้งในการเกษตรกรรม และอุปโภคบริโภคในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ ตุ่มจะมีระดับสูงสุดที่สามารถเก็บได้อยู่จุดหนึ่ง เราเรียกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวบน ถ้ามีน้ำไหลเข้าตุ่มมากเกินกว่าจุดสูงสุดที่สามารถเก็บได้ ตุ่มก็จะต้องรับน้ำหนักไว้เยอะซึ่งเป็นอันตรายเพราะตุ่มอาจจะแตกได้ และน้ำก็จะล้นจากตุ่มไปท่วมพื้นที่รอบข้างให้เกิดความเสียหาย เราจึงต้องปล่อยน้ำออกเมื่อเกินระดับ ซึ่งก็คือการเปิดประตูระบายน้ำล้น (spillway) ขณะเดียวกันตุ่มก็จะมีระดับต่ำสุดหรือที่เรียกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวล่าง จุดนี้จะบอกเราว่าถ้าน้ำในตุ่มมีต่ำกว่าระดับนี้จะมีความเสี่ยงเรื่องขาดแคลนน้ำในปีหน้า หน้าที่ของเราคือควบคุมไม่ให้ระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวล่างในช่วงฤดูแล้ง ในช่วงฤดูฝนเราจึงต้องเก็บน้ำให้มากที่สุดและบริหารจัดการน้ำเข้าให้พอดีไม่สูงเกินระดับ เพื่อจะได้ไม่ต้องเปิด spillway หมายความว่าในหน้าฝนเราจะเก็บเท่าที่จะเก็บได้เพื่อปล่อยออกไปใช้ในหน้าแล้งที่ฝนน้อยครับ และเราจะมีระบบโทรมาตรเพื่อตรวจสอบระดับน้ำไปถึงปากแม่น้ำตาปีเลย โดยจะมีจุดเฝ้าระวังที่สังเกตได้ตลอดเวลาว่าน้ำในแม่น้ำต่ำหรือสูงไปแล้วนะ เราต้องบริหารจัดการน้ำโดยปล่อยน้ำจากเขื่อนลงไปเพื่อไม่ให้น้ำต่ำเกิน จะได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน การปล่อยน้ำจากเขื่อนยังทำเพื่อการรักษาคุณภาพน้ำด้วย เพราะจะไปผลักดันน้ำเค็มจากทะเลและบรรเทาน้ำเสียได้ แต่ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยพบน้ำในแม่น้ำต่ำเกินครับ มีแต่สูงเกิน เมื่อสูงเขื่อนก็ต้องหยุดปล่อยน้ำ เพื่อให้ระดับน้ำในแม่น้ำคงที่อยู่ในระดับปลอดภัย สำหรับที่เขื่อนรัชชประภามีข้อจำกัดอยู่ข้อหนึ่งคือ แม่น้ำพุมดวงจะมีคลอง 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือคลองสก คลองแสงและคลองยัน เขื่อนของเรากั้นแค่คลองแสง ดังนั้นในบางช่วง ยกตัวอย่างในเดือนมีนาคม ปี 54 ที่เกิดวิกฤติภูมิอากาศจนทำให้ฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ตอนนั้นผมเป็นผู้ช่วยอยู่ที่นี่ ทางเขื่อนได้หยุดการปล่อยน้ำตั้งแต่วันแรกที่ฝนตกและหยุดปล่อยต่อเนื่อง 10 กว่าวัน แต่ที่เกิดอุทกภัยนั่นเป็นน้ำที่ไหลมาจากเขาสกครับ ไม่ใช่จากเขื่อนปล่อยออกไป ตอนนั้นเขื่อนรับน้ำจากคลองสกที่ไหลเข้ามาจนเต็มเพียบถึงท้ายเขื่อน แต่เราก็ยังยันไว้ ระหว่างนั้นก็ประสานกับจังหวัดและหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นว่าทางเขื่อนจะไม่ปล่อยน้ำจนกว่าจะไม่ไหวจริงๆ ช่วงนั้นพวกเราก็ทำงานกันหนักมากครับ ทั้งไปช่วยชาวบ้านและเฝ้าระวังน้ำกันตลอด 24 ชม. โชคดีว่าหลังจากนั้นน้ำเริ่มลด แล้วสถานการณ์ก็ดีขึ้นตามลำดับ  ส่วนในปีนี้ที่มีข่าวว่าแล้งมาก แต่ภาคใต้ยังคงโชคดีกว่าภาคอื่นครับ เพราะภูมิประเทศและภูมิอากาศของภาคใต้มีความชื้นสูง ปีที่ผ่านมาก็มีฝนมากพอสมควร ทำให้สถานการณ์น้ำของเราในปีนี้อยู่ในจุดที่น่าพอใจมากครับ ในช่วงปลายปีที่แล้วเขื่อนรัชชประภามีน้ำอยู่ในอ่างเก็บน้ำประมาณ 85.44% สามารถปล่อยน้ำได้วันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถ้าเทียบกับเขื่อนในภาคกลางและภาคเหนือจะมีน้ำน้อยกว่านี้มาก ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าปีนี้ลุ่มแม่น้ำพุมดวงจะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งครับ”

กฟผ.กับการพัฒนาท้องถิ่น 
.....นอกจากทำหน้าที่หลักที่ว่ามาแล้ว การสนับสนุนนโยบายของจังหวัดในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะการสร้างการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน สามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ยาวนาน และในฐานะที่ดูแลเขื่อนอยู่มากมายหลายแห่งทั่วประเทศซึ่งแต่ละแห่งต่างก็มีทัศนียภาพของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจึงเน้นการส่งเสริมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยที่เขื่อนรัชชประภาก็ได้มีการดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง ซึ่งคุณดิลกได้เล่าว่า... 
“เราเชื่อว่าเมื่อสามารถอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ได้ เสน่ห์ของธรรมชาติก็จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาหาเราเอง และยังมัดใจให้เดินทางมาซ้ำอีกด้วย ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดยั่งยืน อย่างที่เขื่อนรัชชประภาตอนนี้เราได้จัด ‘โครงการอ่างสวยน้ำใส’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลรักษาอ่างเก็บน้ำให้คงความเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์มากที่สุด กิจกรรมที่เราทำต่อเนื่องมาหลายปีก็คือการสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวเรื่องการไม่ทิ้งขยะ โดยการชักนำเยาวชนทั้งในและนอกพื้นที่มาร่วมกันเก็บขยะและให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ถูกต้องแก่ประชาชนไปด้วย โดยเราร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรคลองคะโดยหารือกับหัวหน้าส่วนราชการ ครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แล้วทำกิจกรรมร่วมกันครับ นอกจากนี้ผมยังได้นำนโยบายแบ่งพื้นที่ดูแลเข้ามาใช้ เพราะมองว่าลำพังฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเขื่อนอย่างเดียวไม่สามารถลงไปดูแลชาวบ้านรอบบริเวณเขื่อนได้ทั่วถึง  การแบ่งพื้นที่นี้เราเรียกเพื่อความเข้าใจในเขื่อนว่าการแบ่งพื้นที่สีโดยผมจะให้หัวหน้าระดับกองต่างๆ ลงไปช่วยดูแลพื้นที่ตามสีที่ได้รับมอบหมาย ที่เขื่อนรัชชประภานี้เราแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 พื้นที่ 4 สีครับ โดยในพื้นที่อำเภอบ้านตาขุนซึ่งเป็นที่ตั้งเขื่อนเราแบ่งพื้นที่เป็น 2 พื้นที่ 2 สี อำเภอพนม 1 พื้นที่ 1 สี และอำเภอคีรีรัฐฯ 1 พื้นที่ 1 สี การแบ่งพื้นที่สีและแบ่งความรับผิดชอบอย่างนี้ก็เพื่อให้มีผู้ประสานงานโดยตรงกับพื้นที่ เมื่อพื้นที่มีปัญหาเราจะรับรู้และร่วมช่วยเหลือหรือแก้ไขได้รวดเร็ว ส่งผลให้ปัญหาการร้องเรียนลดน้อยลงไปด้วย วิธีการลงพื้นที่นั้นเราจะจัดทำ Social Mapping  หรือแผนที่สังคม โดยส่งบุคลากรของเราลงไปพบชาวบ้านเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม คล้ายๆ กับการทำรีเสิร์ชนั่นแหละครับเราจะบันทึกทั้งข้อเท็จจริง และบทวิเคราะห์สั้นๆ ลงไป ในแผนที่สังคมจะมีทุกอย่างตั้งแต่ขอบเขตของชุมชน โครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง จำนวนและที่่ตั้งของครัวเรือน สถานที่สำคัญ แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ความสัมพันธ์ภายในชุมชน การถ่ายเทองค์ความรู้หรือทรัพยากร ความต้องการและอื่นๆ ซึ่งหลายครั้งการทำ Social Mapping ก็ยังไปช่วยให้ชาวบ้านรู้จักตัวเองว่าที่แท้จริงเขาต้องการอะไร หรือทิศทางของเขาควรไปทางไหน ถ้าพบว่ามีเรื่องใดที่เราทำได้ เราจะลงไปมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาเท่าที่เราจะทำได้ครับในด้านของการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในเขื่อนนั้นผมต้องขออธิบายให้เข้าใจก่อนว่าองค์กรของเราได้จัดสร้างสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่พัก สโมสร หรือสนามกีฬาไว้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้งานของบุคลากรภายในองค์กรเป็นหลักครับ เพราะหนึ่งในนโยบายที่การไฟฟ้าให้ความสำคัญมากก็คือการดูแลบุคลากรให้มีวิถีชีวิตและสุขภาพที่ดีซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานที่มากคุณภาพ เนื่องจากบุคคลกรของเราบางส่วนไม่ใช่คนท้องที่ และที่ตั้งของเขื่อนก็มักอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมากซึ่งปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  แต่เพื่อให้เป็นประโยชน์มากขึ้นและสนับสนุนนโยบายของจังหวัดเรื่องการส่งเสริมการ ท่องเที่ยว เราจึงเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีโอกาสมาใช้บริการด้วยโดยจัดเก็บอัตราค่าบริการถูกมาก  อย่างที่สนามกอล์ฟรัชชประภาปัจจุบันจะมีนักท่องเที่ยวจากภูเก็ตเหมารถมาออกรอบเป็นประจำ ส่วนใหญ่จะมาออกรอบ 2-3 วัน บางกรุ๊ปก็พักในเขื่อน แต่บางกรุ๊ปก็ไปพักในอ่างเก็บน้ำ หรือไปเที่ยวที่อ่างเก็บน้ำหรือไปแวะอุทยานฯ เขาสก นี่ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยว
เดินทางไปเที่ยวยังสถานที่ใกล้เคียงด้วย และสำหรับชาวสุราษฎร์ฯ ถ้าจะมาใช้บริการของเขื่อนไม่ว่าจะเป็นส่วนใดเราจะมีส่วนลดให้ เพราะต้องการคืนความสุขให้กับชาวสุราษฎร์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ครับ
นอกจากนี้เขื่อนยังได้มีการพัฒนาสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วย เพราะวันนี้เราเปิด AEC แล้ว และผมเชื่อว่าเขื่อนรัชชประภาจะยิ่งมีนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้น เราจึงมีการพูดคุยกับหน่วยงานรัฐและฝ่ายบริหารท้องถิ่นเพื่อจัดทำป้ายบอกทางเพิ่มเติมโดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ และปรับปรุงสถานที่ให้รองรับผู้พิการได้ เช่น ทำทางลาดสำหรับรถเข็นผู้พิการทั้งในบ้านพัก อาคารรับรอง และตรงจุดจอดรถต่างๆ  ปรับปรุงห้องน้ำสำหรับผู้พิการเพิ่มเติมทั้งในตัวอาคาร บ้านพัก และบริเวณจุดชมวิวสันเขื่อน พร้อมทั้งจัดทำห้องละหมาดไว้ที่นี่ด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่เป็นมุสลิมซึ่งมีจำนวนมาก และเปิดให้ใช้งานไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วครับ”

สุขได้เพราะเลือกเป็น
ด้านชีวิตส่วนตัวคุณดิลกและภรรยาต่างทำงานที่ กฟผ. ขณะนี้
ภรรยาของเขาประจำอยู่ที่เขื่อนศรีนครินทร์ การทำงานในองค์กรเดียวกันทำให้ทั้งคู่มีความเข้าอกเข้าใจกันในเรื่องการทุ่มเทเวลาให้กับการทำงาน นับตั้งแต่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันจนกระทั่งทายาททั้ง  2 คนเติบใหญ่คุณดิลกจึงสามารถออกไปทำหน้าที่ทัพหน้าโดยมีภรรยาทำหน้าที่ทัพหลังอย่างขันแข็งด้วยความยินดี ซึ่งก็เป็นวิถีที่พ่อและแม่ของเขาได้ปฏิบัติสำเร็จมาก่อนหน้า
“การเลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่ของภรรยาเป็นหลักครับ ส่วนผมก็มุ่งมั่นทำงานสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว สำหรับลูกผมจะหาโอกาสสอนเขาเสมอว่าชีวิตเป็นของเขาเอง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเองจะเลือก ถ้าเลือกทำเรื่องดี ชีวิตย่อมเดินไปสู่ความดี ผมบอกเขาว่าพ่อแม่ให้ได้เต็มที่ที่สุดก็คือส่งเสียให้เรียนเท่าที่เขาต้องการเท่านั้น แล้วผมจะสนับสนุนให้ลูกอ่านหนังสือตั้งแต่เขายังเล็กทุกวันหยุดผมจะพาไปซื้อหนังสือ จะเป็นหนังสือการ์ตูนหรืออะไรก็ได้ผมไม่ว่า แต่เมื่อซื้อมาแล้วต้องอ่านให้จบ ผมยังเชื่อมั่นว่า
การอ่านช่วยเปิดโลกทัศน์ เมื่อเจอสถานการณ์จริงเราจะเรียนรู้กับเหตุการณ์ตรงหน้าและรับมือหรือแก้ปัญหาได้เร็วกว่าคนที่ไม่เคยรู้อะไรเลย..ส่วนชีวิตของผมแต่ไหนแต่ไรมาก็อุทิศให้กับงาน จะว่างก็ตอนเย็น ซึ่งพอนึกจะไปตีกอล์ฟก็ไม่รู้จะตีกับใครแล้ว เพราะเขาออกรอบกันไปหมดแล้ว (หัวเราะ) หลายคนเคยถามผมว่าเอาแต่ทำงานหนักแบบนี้ไม่เครียดหรือ....ผมใช้วิธีมองทุกอย่างว่ามีเหตุจึงเกิดผล เหตุใดจะก่อให้เกิดผลเสียก็อย่าไปทำมัน พยายามเรียนรู้และมองธรรมชาติอย่างที่มันเป็น ยกตัวอย่างเช่น ใจของมนุษย์เราจะบังคับใจใครให้คิดหรือทำแบบเราไม่ได้ทุกเรื่อง และคนอื่นก็บังคับเราไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะไม่ให้วุ่นวายใจเราต้องปล่อยวางผมไม่ยึดติดเรื่องใจคน แต่สิ่งที่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบต้องทำให้ดีที่สุด คิดแบบนี้ก็สนุกกับงานได้ครับ...”


การเลือกทำดี ย่อมนำไปสู่สิ่งที่ดีเสมอ’ และชีวิตของเขาคนนี้ก็คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าประโยคนี้เป็นจริง

FaceBook : นิตยสาร "เมืองคนดี
https://www.facebook.com/mkd999/
LINE ID : mkd999
TEL : 084 940 2289


พระอาจารย์ชลธาร ถาวโร .... โลกของเราใบนี้กำลังเดินหน้าไปสู่ความเสื่อมโทรม !!!

planting trees, planting life
พระอาจารย์ชลธาร ถาวโร หัวหน้าพุทธอุทยานสำนักสงฆ์ถ้ำเขาเพ-ลา
Story : pran  คอลัมน์ : SPEAK OUT นิตยสาร : เมืองคนดี Free Copy Suratthani

.....เป็นความจริงว่าโลกของเราใบนี้กำลังเดินหน้าไปสู่ความเสื่อมโทรม และสัญญานของความเสื่อมนั้น
ก็ได้แสดงอาการให้พวกเราประจักษ์ชัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายสิบปีในรูปของภัยธรรมชาติ และภัยอีกหลายรูปแบบที่สั่นคลอนความมั่นคงด้านคุณภาพชีวิต
.....ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอย่างหนักในปีนี้ ปัญหาอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มพูนอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นทุกปี แม้แต่ปัญหาการทำกินตลอดจนการดำรงชีพอย่างยากลำบากที่มนุษย์ทุกเชื้อชาติทุกมุมโลกต้องเผชิญอยู่นี้ล้วนมีเหตุเพียงหนึ่งเดียว และคนส่วนใหญ่รู้ดีว่าสาเหตุนั้นคืออะไร...คนหลายฝ่ายทั้งที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงและบุคคลทั่วไปต่างอธิบายได้เป็นฉากว่าผลพ่วงร้ายๆ เหล่านั้นเกิดเพราะพวกเราทำลายป่าไม้ แต่ถ้านับจำนวนคนที่ลุกขึ้นมาปฏิบัติการปลูกต้นไม้อย่างจริงจังยังมีน้อยเต็มที ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการรวมตัวของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อจัดทำโครงการธนาคารต้นไม้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรณรงค์ปลูกต้นไม้และอนุรักษ์ป่า ด้วยเป้าหมายคืนพลังธรรมชาติสู่แผ่นดินเพื่อจรรโลงประโยชน์แก่ตัวเอง ประเทศชาติ และสังคมโลกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 
ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีของเรานี้ก็มีเครือข่ายธนาคารต้นไม้อยู่หลายพื้นที่ และผู้ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการรณรงค์อย่างมากในเวลานี้ก็คือ พระอาจารย์ชลธาร ถาวโร หัวหน้าพุทธอุทยานสำนักสงฆ์ถ้ำเขาเพ-ลา ผู้รับผิดชอบธนาคารต้นไม้เขต 8 และประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารธนาคารต้นไม้ระดับชาติ โดยพระอาจารย์ชลธารได้น้อมนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือปลุกจิตสำนึกชาวบ้านให้ตื่นรู้ในเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริงจนเห็นความสำคัญของการปลูกต้นไม้และอนุรักษ์ธรรมชาติ และสามารถเชื่อมโยงจิตใจชาวบ้านให้มีความสามัคคี ตลอดจนสามารถผลิตอาสาป่าไม้บ้านซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้ที่ทำลายป่าให้กลายมาเป็นกำลังเสริมแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการดูแลป่าไม้
ได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังได้นำหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นวิธีการปฏิบัติ โดยแนะนำและชักชวนให้ชาวบ้านปลูกไม้หลากหลายเสริมระหว่างร่องสวน พร้อมนำเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปเป็นพี่เลี้ยงแก่ชาวบ้านอย่างใกล้ชิดปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้กับท่านแล้วกว่า 130 ครัวเรือน...ทำไมเขาเหล่านี้จึงเข้าร่วมอุดมการณ์กับท่าน 
ทำไมการปลูกต้นไม้จึงแก้ปัญหาต่างๆ ที่ซับซ้อนได้ พระอาจารย์ชลธารอธิบายว่า....

.....“องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงอธิบายไว้ว่า มีเหตุย่อมเกิดผล ไม่มีสรรพสิ่งใดเลยที่เกิดด้วยความบังเอิญ การแก้ไขผลที่ไม่ชอบ เราจึงต้องเห็นเสียก่อนว่าสิ่งใดคือเหตุ นี่คือแก่นของธรรมะ การเห็นนี้ต้องเป็นไปตามสภาวะแท้ของธรรมชาติ ตอนนี้เราได้เห็นแล้วว่าเหตุของปัญหาที่กล่าวไปข้างต้นคือต้นไม้น้อยลงไป เราจึงต้องเพิ่มต้นไม้ คำว่าธนาคารหมายถึงการเก็บทรัพย์เพื่อนำไปพัฒนาประโยชน์เบื้องหน้า แต่ทันทีที่เราลงมือแก้ตรงจุดประโยชน์จะเกิดขึ้นนับจากปัจจุบัน เมื่อเราลงมือปลูกต้นไม้อย่างแรกที่เราได้คือความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ผ่านมาเราหลงทางไปเทิดทูนบูชาเคมีเพื่อเกษตรเชิงเดี่ยวและตกเป็นทาสของมันจนไปไม่รอด เพราะดินก็เสื่อม น้ำก็เสื่อม อากาศก็เสื่อม ต่อมาร่างกายของเราเองก็เสื่อม คุณภาพชีวิตก็เสื่อม เรากลายเป็นหนี้เป็นสินตลอดเวลาเพราะต้องซื้อหาของทุกอย่างที่ต้องใช้ สุดท้ายแม้แต่ที่ดินทำกินก็ยังรักษาไว้ไม่ได้  หน้าที่เบื้องต้นของโครงการธนาคารต้นไม้จึงมุ่งรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกไม้หลากหลายเสริมลงไปในเรือกสวนไร่นาเชิงเดี่ยวที่เขามี เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพเกิดขึ้นแล้วปัญหาทั้งมวลจะค่อยๆ หมดไป เพราะการปลูกต้นไม้หรือโครงการธนาคารต้นไม้นี้สามารถครอบคลุมเอาปัญหาทุกอย่างมาแก้ไขได้ เป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบตลอดสายด้วยการแก้เหตุที่แท้เพียงจุดเดียวการปลูกต้นไม้เสริมในสวนนี้เราก็นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเน้นการทำเกษตรผสมผสานมาใช้ เรารู้ความจริงว่ารากของพืชต่างชนิดมิได้ทำหน้าที่แค่ดูดธาตุอาหารจากดินขึ้นมาบำรุงเลี้ยงต้นของมันเท่านั้น แต่ยังช่วยพรวนดินให้ร่วนและถ่ายเทแลกเปลี่ยนแร่ธาตุจากตัวมันเองลงไปสู่ดินด้วย พืชต่างชนิดมีความต้องการและการกำจัดธาตุอาหารที่ต่างกัน แม้จะปลูกใกล้กันจึงไม่แย่งอาหารซึ่งกันและกัน สิ่งที่พืชชนิดหนึ่งกำจัดมักเป็นสิ่งที่พืชอีกชนิดต้องการ นี่คือสภาวะแท้ของธรรมชาติ เราพยายามรณรงค์ให้คนเคารพในธรรมชาติ การดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตใดๆ ในโลกนี้ต้องอาศัยธรรมชาติทุกวินาที เราต้องหายใจ ต้องดื่มน้ำ ต้องกินอาหาร ต้องการที่อยู่อาศัยที่สร้างความปลอดภัยให้ความร่มเย็น...ธรรมชาติคือการเกื้อกูลประโยชน์ระหว่างสรรพสิ่ง ไม่ใช่การทำลายล้าง เมื่อทำลายล้างปัญหาจึงเกิด ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นคือตัวอย่างที่ดีที่สุดในการตอบว่ามนุษย์ควรเคารพธรรมชาติอย่างไร ผู้ที่ได้ลงมือปฏิบัติตามรอยพระบาทจึงไม่มีใครไม่มีความสุขหรือไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเขาสามารถสร้างซูเปอร์มาร์เกตประจำบ้าน ซึ่งเต็มไปด้วยของดีมีคุณภาพ ไม่ต้องไปซื้อหาให้สิ้นเปลืองเงินทอง
......ทฤษฎีของธนาคารต้นไม้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้ปฏิบัติตามแล้วย่อมส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่มนุษย์อย่างมาก เราจะเป็นผู้ที่พึ่งพาตนเองได้ และมีความเข้มแข็งมากพอที่จะช่วยเหลือผู้อื่น และช่วยเหลือสังคมโลกได้ อาตมาและกลุ่มชนผู้ที่ร่วมกันขับเคลื่อนธนาคารต้นไม้จึงสนับสนุนและผลักดันทั้งทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงและธนาคารต้นไม้สู่ประชาชนไปพร้อมๆ กัน ก็อยากเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้และช่วยกันดูแลอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะยิ่งทำมากเท่าไร เราก็จะได้ประโยชน์มากเท่านั้น เจริญพร...”

....การปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์ธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่ยากลำบากเลย มนุษย์ทุกคนทุกเพศวัย จะยากดีมีจน จะเป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้ หน่วยงานหรือองค์กรใดหรือไม่ก็สามารถทำได้ มาช่วยกันปลูกต้นไม้วันละต้น เดือนละต้น และไม่ตัดไม้โดยมุ่งหวังทำลาย ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เท่านี้คุณก็ช่วยตัวเองและโลกได้มากโขแล้ว

ธนาคารต้นไม้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. 08 4854 5425

FaceBook Fanpage : นิตยสาร "เมืองคนดี
https://www.facebook.com/mkd999/
LINE ID : mkd999
TEL : 084 940 2289

วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2560

“พันทิพย์พาเที่ยว ปันฝันเพื่อน้อง” การท่องเที่ยวมักจะจบลงที่การตักตวงบางสิ่งเพื่อสร้างสุขให้ตัวเองเพียงฝ่ายเดียวทั้งสิ้น !! ??

one day trip  “พันทิพย์พาเที่ยว ปันฝันเพื่อน้อง”
Story : Mitila   Photo : Pom (Demand Group)
......เมื่อพูดถึงนิยามของคำว่า “การท่องเที่ยว” สำหรับบางคนอาจจะมองว่ามันก็แค่การเดินทางไปเปิดหูเปิดตาในสถานที่ต่างๆ เพื่อพักผ่อนชาร์ตพลังชีวิต แต่บางคนก็มองว่ามันคือการแสวงหาแรงบันดาลใจเพื่อการสร้างสรรค์สิ่งที่แตกต่าง ในขณะที่อีกหลายคนกล่าวว่ามันคือการเปิดโลกทัศน์ให้รู้จักตัวตนของธรรมชาติและวิถีของผู้คนหลากเชื้อชาติบนโลกใบนี้..

......ไม่ว่าคุณจะนิยามอย่างไรใน 3 มุมมองนั้น การท่องเที่ยวก็มักจะจบลงที่การตักตวงบางสิ่งเพื่อสร้างสุขให้ตัวเองเพียงฝ่ายเดียวทั้งสิ้น! แต่...มันจะดีสักแค่ไหน...ถ้าการท่องเที่ยวในแต่ละทริปของเราจะสามารถมอบรอยยิ้มแห่งความหวังให้แก่คนที่ต้องการความช่วยเหลือในสถานที่ที่เราเยือนไปพร้อมๆ กันด้วย...ดังเช่นแคมเปญ ‘One Day Trip พันทิพย์พาเที่ยว ปันฝันเพื่อน้อง’ ที่เรากำลังจะพาคุณไปรู้จักต่อไปนี้...
“ผมมองเห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีอยู่สูง เราเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีอำเภอมากถึง 19 อำเภอ และมีลักษณะทางกายภาพหลากหลาย เราไม่เพียงมีท้องทะเลที่โด่งดังติดอันดับโลกเท่านั้น แต่เรายังมีขุนเขา ลำธาร น้ำตก ถ้ำ และโบราณสถานที่สวยงามกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัดด้วย และสถานที่เหล่านั้นสามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับบริษัทพันทิพย์ (1970) จำกัด ของเราก็ดำเนินการให้บริการชาวสุราษฎร์ฯ ด้านการคมนาคมขนส่งจนเป็นที่เชื่อใจมายาวนาน เราก็
เลยมีความคิดที่จะคืนกำไรสู่สังคมด้วยการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ฯ ให้คึกคัก โดยมุ่งเป้าไปที่ชาวสุราษฎร์ฯ และจังหวัดใกล้เคียงให้ได้มีโอกาสมาสัมผัสสถานที่สวยงามของจังหวัดอย่างทั่วถึงทุกอำเภอในราคาที่ใครๆ ก็จ่ายได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนด้วย พร้อมกันนี้เราก็ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำนักท่องเที่ยวไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย บางทริปอาจจะเป็นเด็กนักเรียน บางทริปอาจจะเป็นผู้พิการขึ้นกับว่าลูกทัวร์และท้องที่มีความต้องการอย่างไร ผมคิดว่าการช่วยเหลือคนที่ควรช่วยนั้นเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน ยิ่งเป็นชาวสุราษฎร์ฯ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบ้านเกิดเรายิ่งต้องช่วย แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กำลังของแต่ละบุคคลครับ การช่วยเหลือนี้นอกจากจะสร้างความสุขแก่ทั้งผู้ให้และผู้รับแล้ว ยังเป็นการพัฒนาสังคมด้วย จึงเป็นที่มาให้เกิดแคมเปญ ‘One Day Trip พันทิพย์พาเที่ยว ปันฝันเพื่อน้อง’ ขึ้นมาครับ ซึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวเพื่อสังคมอย่างนี้ยังไม่มีใครในสุราษฎร์ฯ ทำมาก่อนเลยเราเชื่อว่าแคมเปญนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมสุราษฎร์ฯ ไม่มากก็น้อย โดยเราจะจัดให้ครบทั้ง 19 อำเภอครับ”
....นั่นคือสิ่งที่คุณเปาโล อนรรฆ กนกวิจิตร รองกรรมการผู้จัดการบริษัท พันทิพย์ (1970) จำกัด เล่าให้ฟังถึงที่มาของแคมเปญท่องเที่ยวใหม่ที่เกิดขึ้นโดยไม่มุ่งหวังกำไรใดๆ และเพื่อทำความรู้จักกับแคมเปญให้ลึกซึ้ง เราจะพาคุณไปติดตามทริปนำร่องสู่อำเภอบ้านตาขุน ซึ่งมีสมาชิกจากกลุ่ม YEC (Young  Entrepreneur Chamber of Commerce) พร้อมด้วยผู้สื่อข่าวรวม 40 ชีวิตเป็นลูกทัวร์กิตติมศักดิ์

.....เช้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 ชาวคณะทัวร์ต่างพกรอยยิ้มมาพบกันที่ลานจอดรถโรงแรมร้อยเกาะซึ่งเป็นจุดสตาร์ท โดยพันทิพย์ฯ ได้จัดเตรียมรถบัส 40 ที่นั่งคันใหม่เอี่ยมอ่องมารอรับหลังจากอิ่มอร่อยกับอาหารว่างยามเช้าแล้ว คณะก็มุ่งหน้าสู่ ‘เขื่อนรัชชประภา’ เพื่อชมความงามของสันเขื่อนที่ทอดยาวกั้นผืนน้ำสีเขียวมรกตโดยมีขุนเขาใหญ่น้อยอยู่เบื้องหลัง พร้อมทั้งกราบขอพรพระพุทธสิริสัตตราชเพื่อสิริมงคล หลังจากถ่ายรูปวิวสวยๆ จนเต็มอิ่มแล้ว ชาวคณะก็ขึ้นรถโดยสารเล็กเดินทางต่อไปยัง ‘วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านเขาเทพพิทักษ์’ รถเล็กนี้เป็นสมาชิกของชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารตาขุน-เขื่อน ซึ่งทางพันทิพย์ฯ ได้ประสานให้มารับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ทันทีที่เดินทางถึงชาวคณะก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวชุมชน และได้ชมความงามแปลกตาของ ‘ภูเขารูปหัวใจ’ ถึงจุดนี้แต่ละคนต่างระดมกำลังเซลฟี่กันแบบไม่มีใครยอมใคร...แล้วทั้งหมดก็นั่งรถเล็กมุ่งหน้าสู่ ‘เชี่ยวหลาน แคมป์’ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ริมคลองแสงที่นอกจากมีบรรยากาศสวยงามแล้ว ขอบอกว่าอาหารมื้อเที่ยงที่นำมาบริการหรอยแรงมากกกก...และยังได้สนุกสนานกับกิจกรรมต่างๆ เริ่มจากชมการแสดงของ ‘น้องภูผา’ ลูกช้างน้อย ต่อด้วยการแบ่งกลุ่มกันไปผจญภัยในคลองแสง ใครชอบเล่นน้ำก็ไปล่องชูชีพ ส่วนคนชอบเดินป่าก็ขี่ช้างเลาะไปตามลำธาร ซึ่งระหว่างทางจะได้ชมป่าธรรมชาติสลับกับแวะชิมผลไม้สดในสวนของชาวบ้าน ปิดท้ายด้วยการมอบทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียนและกีฬาแก่เด็กนักเรียนที่โรงเรียนบ้านเขาเทพพิทักษ์...ได้เห็นรอยยิ้มของน้องๆ แล้ว ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เที่ยวครั้งนี้สุขกว่าครั้งไหน เพราะได้สร้างประโยชน์และเผื่อแผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่นด้วยนั่นเอง...

......ท่านใดสนใจร่วมทริปหรือองค์กรใดต้องการจัดทริปท่องเที่ยวเพื่อสังคมในลักษณะนี้ สอบถามรายละเอียดที่ 
โทร. 0 7727 2230  www.phantiptravel.com

FaceBook : นิตยสาร "เมืองคนดี
https://www.facebook.com/mkd999/
LINE ID : mkd999
TEL : 084 940 2289


ก่อเกียรติ อินทรักษ์ กล่าวว่า..."คนที่สำเร็จในชีวิตมักจะมี 3 อย่างอยู่เบื้องหลัง..." นั้นคือ....

kokiat intharak ก่อเกียรติ อินทรักษ์
the happiness of  others is our success.
.....ชายร่างสูงสง่าที่มีรอยยิ้มน้อยๆ ประดับอยู่บนริมฝีปากสม่ำเสมอคนนี้มีชื่อว่า ‘ก่อเกียรติ อินทรักษ์’ แต่คนทั่วไปมักเรียกเขาด้วยความคุ้นเคยว่า ‘รองตาเล็ก’ เพราะความที่เขาดำรงตำแหน่ง
รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีชุดปัจจุบัน...

.....ที่ผ่านมามีหลายท่านในสนามการเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ ‘เมืองคนดี’ มีโอกาสพูดคุยเพื่อนำเรื่องราวดีๆ มาเล่าขานเป็นแบบอย่างในการคิดและดำเนินชีวิต และเราก็พบว่าไม่มีท่านใดเลยที่ฝัน
จะเป็นนักการเมืองมาก่อน ตรงกันข้ามกับคุณก่อเกียรติ ที่ซึมซับและชื่นชอบการช่วยเหลือคนมาจากบิดา ‘พิพัฒน์ อินทรักษ์’ ผู้ล่วงลับ จากการที่ท่านเป็นทั้งอดีตกำนัน เป็นสจ. และเป็นนายก อบต.
ทุ่งเตา จนฝังใจว่าเติบใหญ่เมื่อไรจะอาสาทำงานการเมืองตามรอยเท้าพ่อ...
“ภาพที่อยู่ในความทรงจำของผมมาตลอดคือคุณพ่อมีมิตรมาก ผมเลยพลอยฟ้าพลอยฝนได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่เยอะตามไปด้วย (ยิ้ม) พ่อช่วยเหลือคนเพราะธรรมชาติของท่านเป็นอย่างนั้นแท้ๆ ไม่ได้ต้องการตำแหน่งอะไร แต่ท้ายที่สุดท่านก็ได้รับตำแหน่งทางการปกครองและทางการเมืองติดต่อกันหลายสมัย เพราะชาวบ้านมาขอให้เป็นตัวแทน เมื่อท่านตกลงก็ไม่มีใครยอมลงสมัครแข่งเพราะรู้ว่าชาวบ้านไว้วางใจจนไม่มีเหลือให้คนอื่นแล้ว...”
ความน่าสนใจในชีวิตของคุณก่อเกียรติ ไม่ได้มีเพียงการเดินทางตามความฝันจนได้เป็นในสิ่งที่ฝัน
เท่านั้น แต่หลักในการทำงานรับใช้ประชาชนให้ประสบความสำเร็จ และคำจำกัดความของคำว่า ‘ความสำเร็จที่แท้จริง’ ในทัศนะของเขาต่างหากที่น่าสนใจยิ่งกว่า และนั่นคือสิ่งที่เราตามมาค้นหาจากเขาในวันนี้...

ต้นแบบคือพ่อ
คุณก่อเกียรติเป็นชาวตำบลทุ่งเตาใหม่ อำเภอบ้านนาสาร หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมต้นจากโรงเรียนในอำเภอบ้านนาสารแล้ว เขาได้ย้ายมาเรียนต่อด้านช่างเทคนิคจนจบ ปวส. ก่อนจะพักการเรียนเพื่อไปเป็นทหารเกณฑ์ 1 ปีเต็ม จากนั้นจึงมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีจนจบปริญญาตรี ปัจจุบันเขาได้รับปริญญามหาบัณฑิตสาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ปฐมบทของการสนทนาเราได้ขอให้เขาพาย้อนไปในช่วงเวลาที่ปลูกความฝันสู่นักการเมือง...
“พ่อสอนเสมอว่าการทำดีจะเป็นต้นทุน ต้นทุนนี้ไม่ได้หมายถึงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ นะครับ แต่หมายถึงการได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้อื่นซึ่งจะนำความนับหน้าถือตา ความเมตตาให้กลับคืนมาสู่ตัวเราและครอบครัว ในชีวิตของคนเรามีหลายๆ เรื่องที่ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้า
เรามีต้นทุนที่ดี ยามอับจนหรือคิดจะทำอะไรก็จะมีคนช่วยเหลืออยู่ไม่ขาด ผมและน้องๆ ถูกเลี้ยงมา
ภายใต้กรอบนี้ จะทำอะไรพ่อแม่ให้เลือกเองแต่ต้องอยู่บนความดี ที่พ่อเน้นมากก็คือการเคารพตนเอง ท่านสอนว่าอะไรเป็นหน้าที่ต้องรับผิดชอบให้ดีที่สุด ที่ผมทิ้งเวลาเรียนไปเป็นทหารเกณฑ์ก็เพราะผมเชื่อที่ท่านสอน (ยิ้ม) ส่วนการเข้ามาในสายงานการเมืองผมเลือกที่จะทำเอง เพราะสัมผัสได้ว่าชีวิตที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถไปช่วยเหลือคนอื่นมีคุณค่ามาก ผมมองพ่อเป็นไอดอลครับ และแอบคิดในใจ
มาตั้งแต่ยังไม่เป็นวัยรุ่นว่าจะสานอุดมการณ์ของพ่อ (ยิ้ม)...” ความคิดที่จะเป็นนักการเมืองของคุณก่อเกียรติเริ่มเป็นรูปร่างขึ้นในช่วงที่เรียนจบ ปวส. และทวีความเข้มข้นขึ้นอีกในช่วงที่ทำธุรกิจ เพราะการเดินทางไปติดต่องานทั่วทั้งจังหวัดทำให้เขาได้เห็นว่ายังมีเพื่อนร่วมบ้านเกิดอีกมากมายที่ยังลำบาก จึงเกิดคำถามในใจว่าทำอย่างไรคนสุราษฎร์ฯ จะมีสิ่งที่ควรมีเท่าเทียมกันได้... “ผมเอาปัญหานี้มาถกกับพ่อ ท่านก็อธิบายว่าการพัฒนาบ้านเมืองเป็นเรื่องของรัฐและการเมืองที่จะต้องมองภาพรวมและวางรากฐานการพัฒนาไปตามลำดับความสำคัญ สิ่งที่พ่อทำอยู่ก็คือเป็นปากเสียงแทนประชาชนเพื่อให้ภาครัฐและการเมืองได้รู้ว่าควรพัฒนาท้องที่นี้เพราะอะไรและอย่างไร ท่านให้ความสำคัญมากกับการเป็นปากเสียงอย่างต่อเนื่อง ท่านเชื่อว่างานที่ยิ่งใหญ่ไม่เคยสำเร็จในช่วงเวลาสั้นๆ ท่านก็ขยันทำไปทุกวัน วันนี้ได้สิบ พรุ่งนี้ได้อีกสิบ วันข้างหน้าก็ไปถึงร้อยได้... ตรงนี้ยิ่งเพิ่มไฟในใจผม
เรื่องอยากทำงานการเมืองเพราะเห็นว่าพ่อก็ทำมาเยอะแล้วผมไม่ต้องการให้สิ่งที่ท่านอุตสาหะทำมาสูญเปล่าเมื่อจากไปจึงลงสมัครเลือกตั้ง สจ. แบบไม่ลังเลเลย”

งานคือการ ‘สู้’ เพื่อ ‘สร้าง’
นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ถูกเวลาอย่างยิ่ง เพราะคุณก่อเกียรติได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่อย่างอบอุ่นทันทีที่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรก ในเวลานั้นเขามีอายุเพียง 27 ปีเศษ และยังไม่มีภาระครอบครัว ถือเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีรุ่นใหม่ไฟแรง ...ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับใครต่อใครที่ในเวลาต่อมาเขาจะได้รับเลือกตั้งติดต่อกันถึง 3 สมัย แต่ที่ทำให้ตัวเขาต้องประหลาดใจเพราะเป็นเรื่องเกินคาดหวังก็คือการได้เป็นผู้สมัครหนึ่งในตำนานของจังหวัดตามรอยพ่อ โดยเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวของเขตที่ปราศจากผู้ลงสมัครแข่งถึง 2 สมัย เมื่อถามถึงความรู้สึก ประกายตาของเขาฉายแววมุ่งมั่นในทันที...
“ครอบครัวผมเป็นชนชั้นกลาง ไม่ได้ร่ำรวยหรือมีอิทธิพลใดๆ ผมภูมิใจว่าชาวบ้านเลือกเราเพราะความดีและผลงานที่ทำมาทั้งของพ่อและของผม สิ่งนี้เป็นกำลังใจให้ผมรักษาความดีไว้อย่างสุดความสามารถ (ยิ้มกว้าง) การทำงานในช่วงแรกนี้ผมเหนื่อยใจมากแต่ไม่ท้อ... เพราะตอนนั้นงบประมาณของ อบจ.ยังมีไม่มาก จะสร้างถนนสายหนึ่งได้งบประมาณ 2 ล้านบาทนี่ก็ถือว่ามากแล้ว แต่งบฯ แค่นี้ต่อให้ได้ทุกปีกว่าจะสร้างเสร็จสายหนึ่งก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ 4 ปี ผมนั่งทุกข์ทุกวันว่าขืนเป็นอย่างนี้เมื่อไรเราจะเจริญทั่วถึงกันเสียที... แล้ววันหนึ่งผมก็ได้คิดว่าถนนสายหนึ่งต้องตัดผ่านหลายตำบลนี่ ถ้าเราเชิญนายก อบต. ที่ดูแลท้องที่มาร่วมพูดคุยเพื่อประสานความร่วมมือน่าจะเป็นผลดีกว่า คิดเสร็จ ผมทำเลย (ยิ้ม) ท่านนายก อบต. ต่างๆ ก็เห็นด้วยเพราะวิธีนี้สามารถทำให้ทุกฝ่ายบรรลุเป้าประสงค์คือ อบจ.และอบต. มีผลงานเป็นรูปธรรม ประชาชนก็มีถนนระยะทางยาวใช้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องรอปีละ200-300 เมตร แถมก่อสร้างคนละมาตรฐานอีก ปรากฏว่าวิธีนี้ได้กลายเป็นโมเดลของการร่วมมือระหว่าง อบจ.และอบต. ในการพัฒนาโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการจนถึงเดี๋ยวนี้ครับ อีกเรื่องที่ผมให้ความสำคัญคือการพัฒนากลุ่มประชาชนผมเข้าไปผลักดันให้มีการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่นขึ้นและสามารถสร้างประโยชน์เป็นชิ้นเป็นอันด้วยการจัดตั้งกองทุนต่างๆ ไปสนับสนุนอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ครัวเรือน ผมพยายามอย่างมากที่จะดึงกลุ่มประชาชนให้มามีส่วนร่วมกับฝ่ายบริหาร เพราะเขาคือผู้ที่จะบอกปัญหาที่แท้จริงได้ ตอนนั้นผมกับกลุ่มประชาชนยังได้ร่วมผลักดันการจัดงานเทศกาลนาสารฟู้ดแฟร์ให้เป็นเทศกาลประจำอำเภออีกงานหนึ่ง โดยผมรับเป็นประธานการจัดงานมาตั้งแต่ตอนนั้น ถึงวันนี้ก็ 13 ปี และจะพยายามให้ยิ่งใหญ่ขึ้นทุกๆ ปีครับ...”

พัฒนาการท่องเที่ยวสู่มิติใหม่
ผลจากการ ‘คิด’ และ ‘ทำ’ ไม่หยุดเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เดินหน้ามาตลอดหลายปี คุณก่อเกียรติจึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นหนึ่งทีมบริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีชุดนี้โดยดำรงตำแหน่งรองนายก อบจ. คนที่ 1 และได้รับมอบหมายให้ดูแล 2 กอง คือกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต และกองการท่องเที่ยวและกีฬา...
“ในส่วนของกองส่งเสริมคุณภาพชีวิตภารกิจที่เน้นหนักจะเป็นเรื่องการพัฒนามาตรฐานและการบริการโรงพยาบาล อบจ. และการดูแลคุณภาพชีวิตของกลุ่มประชาชนต่างๆ ให้ได้รับสิทธิตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิตอย่างทั่วถึงครับ แต่ที่เข้มข้นเวลานี้จะเป็นกองการท่องเที่ยวและกีฬา นับตั้งแต่คณะบริหาร อบจ. ชุดนี้เข้ามาทำงาน เรื่องที่เราตั้งใจและพยายามมาโดยตลอดคือสร้างการท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ยั่งยืน สิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้มีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก ประการแรกคือการประสานกลุ่มหรือชมรมการท่องเที่ยวต่างๆ ผนึกกำลังกันเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยวและมาตรฐานการบริการให้มีพลังดึงดูดมากขึ้น ประการที่สองคือการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
 ...วันนี้เราเปิด AEC แล้ว ในข้อดีก็คือเป็นการร่วมมือกันเพื่อประกาศความแข่งแกร่งของอาเซียนบนเวทีโลก แต่ขณะเดียวกันประเทศสมาชิกก็ต้องแข่งขันพัฒนาภายในประเทศด้วย โดยเฉพาะการท่องเที่ยว วันนี้เราต้องการนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาสัมผัสตลอดทั้งปี จึงจำเป็นที่ต้องสร้างแรงดึงดูดใหม่ๆ ครับ
ใน 2 ปีที่ผ่านมา อบจ. เร่งการสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนหรือสมาคมท่องเที่ยวทุกอำเภอได้คิดและสร้างเส้นทางท่องเที่ยวรวมถึงสร้างกิจกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้น..และให้ความสำคัญกับการบูรณะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วให้สามารถสร้างความประทับใจได้ต่อเนื่อง เราจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อสนับสนุนโครงการปรับปรุงเส้นทางและจัดสร้างสาธารณูปโภคในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่ดำเนินการแล้วและกำลังดำเนินการมีหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาปรับปรุงหินพัด อำเภอคีรีรัฐนิคม โครงการพัฒนาปรับปรุงบ่อน้ำพุร้อนที่ตำบลเพิ่มพูนทรัพย์อำเภอบ้านนาสาร โครงการพัฒนาบ่อน้ำพุร้อนที่ตำบลกรูด อำเภอกาญจนดิษฐ์ และยังได้ให้งบประมาณสนับสนุนกิจกรรมพระจันทร์หลากสีที่เกาะพะงัน ซึ่งปีที่แล้วเพิ่งจะจัดเป็นปีที่ 2 และได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนักท่องเที่ยวและเอเจนซีทัวร์ พร้อมกันนี้เราก็เร่งการสนับสนุนกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวและกลุ่มสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้พัฒนามาตรฐานการบริการ และการทำการตลาดในต่างประเทศ กลุ่มประชาชนก็สำคัญครับ เราสนับสนุนการนำภูมิปัญญามาเป็นสินค้าของฝากรูปแบบใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ก็จัดทำป้ายบอกทาง ทำสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งภาษาไทยและต่างชาติครับ..
.....ส่วนที่กำลังจะเห็นเป็นรูปธรรมในปีนี้ก็คือการสร้างตลาดท่องเที่ยวโดยดึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาสู่จังหวัด ผมคิดว่าความหวังของการท่องเที่ยวสุราษฎร์ฯ มิติใหม่ก็คือ ‘การกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว’
เพราะกีฬาหลายชนิดได้รับความนิยมสูง นักกีฬาบางคนมีแฟนคลับไม่จำกัดเพศและวัยอยู่ทั่วโลก แล้วในช่วงปิดฤดูกาลแข่งขันนักกีฬาก็ยังจำเป็นต้องฝึกซ้อมหรือแข่งขันแมทช์กระชับมิตรเพื่อวอร์มร่างกาย ตอนนี้กีฬาฟุตบอลเหมาะสมที่จะนำร่องมากที่สุดลำพังในเอเชียก็มีสโมสรฟุตบอลอยู่ไม่น้อย จังหวัดเราก็มีสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่มีศักยภาพสูง ที่เกาะสมุยมีดารานักร้องและนักกีฬาชื่อดังของโลกมาพักผ่อนทุกปี เบคแฮมก็มีบ้านพักที่นี่และยังมีภาคเอกชนที่รอสนับสนุนอยู่มาก อบจ. จึงได้ร่วมมือกับเทศบาลนครสมุยทำโครงการพัฒนาสนามกีฬาพรุหน้าเมืองให้เป็นสนามฟุตบอลมาตรฐานระดับโลก คือนอกจากจะมีสนามดีเยี่ยมแล้ว ต้องมีฟังก์ชั่นที่สะดวกต่อการใช้งาน สะอาด ทันสมัย และมีความปลอดภัยสูง โดยอบจ. ได้จัดสรรงบประมาณปี 59 เพื่อสนับสนุนโครงการนี้เป็นเงิน 59 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบฯ ของเทศบาลนครสมุยอีก 10 ล้านบาท รวมเป็น 69 ล้านบาท สนามจะแล้วเสร็จภายในปี 59 นี้ครับ ผมเชื่อว่าความพร้อมของสนามและศักยภาพของเกาะสมุยจะสามารถดึงให้สโมสรต่างๆ มาฝึกซ้อมหรือแข่งขันได้ไม่ยากครับ”

สร้างการกีฬาสู่มาตรฐาน
นอกจากตำแหน่งรองนายก อบจ.แล้วคุณก่อเกียรติยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย เขาได้เล่าถึงแผนการสนับสนุนการกีฬาในจังหวัดสุราษฎร์ฯ ให้คึกคักและมีมาตรฐานว่า...
“ผมขอพูดในส่วนของอบจ. ก่อนว่าขณะนี้นอกจากการปรับปรุงสนามฟุตบอลที่สมุย อบจ. มีโครงการจัดสร้างสนามกีฬาใหม่อีก 2 แห่ง คือที่โรงเรียนบ้านนาหรือโรงเรียนอบจ. 3 และที่โรงเรียนท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ ซึ่งที่นี่จะทำเป็นศูนย์ฝึกกีฬาสำหรับเยาวชนเพราะสุราษฎร์ธานีได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตนักกีฬาทีมชาติโดยเฉพาะนักกรีฑา มาจากโรงเรียนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีทั้งนั้น (ยิ้ม) เราต้องการรักษาชื่อเสียงนี้ไว้ สำหรับสนามกีฬากลาง เรามีโครงการจัดสร้างห้องพักสำหรับนักกีฬาด้วย ขณะนี้อยู่ในการประสานงานกับกกท...ก็โชคดีว่าผมเป็นนายกสมาคมกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ฯ ด้วย จึงเป็นความสะดวกในการวางแผนว่าการพัฒนาเรื่องใดควรใช้งบประมาณจากหน่วยงานใด หากสมาคมมีงบฯ ไม่พอ
ก็สามารถพิจารณาได้ว่าอบจ. จะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนได้หรือไม่ งานจะเกิดเป็นรูปธรรมได้เร็ว... ตอนนี้สมาคมกีฬาก็ร่วมมือกับเอ.วี อคาเดมี เดินสายไปฝึกทักษะเด็กด้านกีฬาฟุตบอลทุกอำเภอ ปีที่แล้วนำร่องไป 3 อำเภอครับ ปี 59 เราจะทำต่อเนื่องครั้งละ 3 อำเภอ และเราได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ปกครองด้วยเพราะเขาเห็นชัดว่าลูกเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น...”

ความสุขของชีวิต
หลังจากพูดคุยเรื่องการงานยาวเหยียด เราแอบยกข้อมือขึ้นเหลือบดูนาฬิกา...ไม่น่าเชื่อว่าจะผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมงแล้วทั้งที่รู้สึกเหมือนคุยเพียงครู่ นั่นเพราะภาพอนาคตของสุราษฎร์ฯ ในมโนจิตที่วาดไปตามคำตอบของเขาได้สร้างสุขให้เราจนลืมเวลา แต่ที่สุขยิ่งกว่าก็คืออีกไม่ช้ามันจะเป็นเรื่องจริง...ในบทสุดท้ายของการสนทนาเราป้อนคำถามว่า เมื่อชีวิตเดินทางมาถึงวันนี้ความสุขของเขาคืออะไร
“ความสุขของผมคือทำให้คนอื่นมีความสุข ถึงจะทำไม่สำเร็จทุกเรื่องที่เขาขอ แต่ผมก็ดีใจว่าได้พยายามทำแล้ว... ผมไม่ได้หมายถึงเรื่องการทำงานตามหน้าที่อย่างเดียว แต่คือทุกเรื่องยกตัวอย่างวันนี้ผมตื่นตั้งแต่ตี 4 เช้าไปเปิดงานปั่นจักรยาน สายไปงานบุญ บ่ายมาตามงานที่สนามกีฬา เย็นมาเปิดการแข่งขันกีฬา ค่ำไปเป็นประธานงานแต่งงาน (หัวเราะ) ผมรู้ว่าบางงานปฏิเสธได้ แต่ผมไม่มีความสุขที่จะปฏิเสธ ผมภูมิใจที่ได้สร้างประโยชน์ให้คนอื่น (ยิ้มกว้าง) ผมไม่เครียดเรื่องไม่มีเวลาให้ตัวเอง แต่จะเครียดสูงทุกครั้งที่แก้ปัญหาให้ประชาชนได้ไม่ทันใจ ตอนหลังผมนำวิธีของพ่อมาใช้คือขยันทำไป คิดเสียว่าวันข้างหน้าจะต้องได้ ความเครียดก็น้อยลง และด้วยหน้าที่ด้านการกีฬาก็ช่วยให้ผมทำงานไปสนุกไปได้ ผมชอบเตะฟุตบอลครับเราไปเตะทุกอำเภอ ได้สุขภาพที่ดีและได้ใกล้ชิดชาวบ้าน จริงๆ ปัญหาที่ อบจ. หรือสมาคมกีฬากำลังแก้ส่วนใหญ่ก็ได้มาจากตรงนั้นครับครอบครัวก็เป็นความสุขของผมอีกอย่างหนึ่ง ผมมีลูกชาย 2 คน เรียนที่วชิราวุธวิทยาลัย กรุงเทพฯ ผมประทับใจโรงเรียนนี้เพราะระเบียบวินัยดี เด็กๆ ไม่ต้องเรียนวิชาการอัดแน่น ช่วงบ่ายจะเป็นเวลาของกิจกรรมและโรงเรียนจะฝึกเด็กให้เขียนจดหมาย ผมได้เห็นลายมือของลูก ได้เห็นการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง มันเป็นความสุขที่ได้อ่าน ทุกสองอาทิตย์ผมกับภรรยาจะสลับกันไปเยี่ยมนี่แหละความสุขของผม (ยิ้ม)...”
คนที่สำเร็จในชีวิตมักจะมี 3 อย่างอยู่เบื้องหลัง หนึ่งคือการได้ทำในสิ่งที่รัก สองคือมีครอบครัวและเพื่อนดีสนับสนุน สามคือมีคุณธรรมประจำใจ...และความสำเร็จของเขาคนนี้หาใช่
ความมั่งคั่งในเงินตราหรืออำนาจ หากเป็นคุณค่าที่ได้สร้างประโยชน์ต่อผู้อื่น นี่ต่างหากที่เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แท้จริง...

คอลัมน์ SOUL&SPIRIT พุทธทาสภิกขุ ความทรงจำด้วยหัวใจแห่งศรัทธา (ตอนที่ 3) ‘‘ความสำเร็จแท้จริงคือการสร้างประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์’’

พุทธทาสภิกขุ ความทรงจำด้วยหัวใจแห่งศรัทธา (ตอนที่ 3) ‘‘ความสำเร็จแท้จริงคือการสร้างประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์’’ โดย คุณณรงค์ เสมียนเพชร
(คอลัมน์ SOUL&SPIRIT จากนิตยสารฟรีก็อปปี้ จ.สุราษฎร์ธานี นิตยสาร "เมืองคนดี" ฉบับที่ 8)

....เมื่อพูดถึงท่านพุทธทาสภิกขุแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้คนจะนึกถึงนอกเหนือจากคำสอนอันลึกซึ้งของท่านก็คือสวนโมกขพลารามหรือสวนโมกข์...
สวนโมกข์ที่ท่านอาจารย์สร้างเองนั้นมีอยู่ 3 แห่ง คือ ‘สวนโมกข์เก่า’หรือตระพังจิก ในตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา ‘สวนโมกข์วัดธารน้ำไหล’ณ เชิงเขาพุทธทอง อำเภอไชยา และ ‘สวนโมกข์นานาชาติ’  ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสวนโมกข์แห่งที่สอง การกำเนิดของสวนโมกข์นั้นมิได้สำเร็จโดยกำลังท่านพระอาจารย์แต่เพียงลำพัง หากยังมีแรงสนับสนุนสำคัญจากคณะธรรมทาน ซึ่งนายธรรมทาส พานิช น้องชายของท่านได้รวบรวมญาติมิตรที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนาจัดตั้งเป็นคณะขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2472 บทบาทของคณะธรรมทานในช่วงแรกนี้คือการรวบรวมหนังสือธรรมะทั้งภาษาไทยและต่างประเทศมาจัดใส่หีบเรียกว่า ‘หีบหนังสือ’ ตั้งไว้ให้คนทั่วไปได้อ่านตามอัธยาศัย ต่อมาราวปลายปี พ.ศ. 2474 ท่านอาจารย์มีความคิดที่จะหาสถานที่
เพื่อสร้างประโยชน์ด้านการศึกษาและเผยแพร่พุทธศาสนาทั้งแก่ตัวท่านเองและพระเณรที่สนใจ ท่านจึงได้เขียนจดหมายปรารภกับนายธรรมทาส ที่สุดก็ตกลงใจกันว่าควรจะสร้างเสียที่บ้านเกิด เมื่อคณะธรรมทานได้ทราบความประสงค์จึงปวารณาตัวออกสำรวจพื้นที่ นำโดยนายเที่ยง จันทเวช นายดาว ใจสะอาด นายฉัว วรรณกลัด นายเนิน วงษ์วานิช นายกวย กิ่งไม้แดง และต่างก็เห็นพ้องกันว่าควรจะใช้พื้นที่ของวัดตระพังจิกซึ่งเวลานั้นเป็นวัดร้าง แล้วช่วยกันบูรณะปรับปรุงพื้นที่อย่างง่ายๆ ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ถือเอาวันวิสาขบูชา เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2475 เป็นวันจำวัดครั้งแรกและเปิดกิจการสวนโมกข์พุมเรียงในวันเดียวกันนั้นเอง...ชื่อ สวนโมกขพลารามก็มีกำเนิดมาจากที่นี่ เนื่องจากรอบบริเวณเต็มไปด้วยต้นโมกและต้นพลา ท่านอาจารย์จึงนำคำทั้งสองและคำว่า ‘อาราม’ มาสมาส สนธิตามหลักภาษาบาลีสันสกฤต เกิดเป็นคำว่า ‘โมกขพลาราม’ แปลว่ากำลังแห่งความหลุดพ้นทุกข์...แต่ต่อมาท่านอาจารย์ต้องเดินทางไปกิจนิมนต์และสอนธรรมะในที่ต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง จำต้องไปอาศัยจำวัดที่อื่นเสมอๆ ท่านจึงมีดำริสร้างสวนโมกข์แห่งใหม่ที่ริมเขาพุทธทอง โดยได้ย้ายสวนโมกข์จากพุมเรียงมาอยู่ที่นี่เมื่อปี พ.ศ. 2485 และเนื่องจากมีธารน้ำไหลผ่าน เมื่อต้องจดทะเบียนเป็นวัดตามระเบียบของทางการ จึงใช้ชื่อว่า ‘วัดธารน้ำไหล’
ตลอดเวลาที่วัดธารน้ำไหลท่านอาจารย์มิได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอย่างที่หลายคนเข้าใจ ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเพียงที่เดียวก็คือวัดพระบรมธาตุไชยา ส่วนเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดธารน้ำไหลคือพระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร) แม้แต่
สวนโมกข์เองก็มิได้เป็นส่วนหนึ่งของวัดมาตั้งแต่เริ่มแรก หากมาจดทะเบียนขึ้นตรงกับวัดธารน้ำไหลในภายหลังเพื่อให้ตรงตามระเบียบของมหาเถรสมาคม แต่คนทั่วไปมักเรียกวัดธารน้ำไหลว่าสวนโมกข์ ต่อมาคำว่าสวนโมกข์จึงเป็นเสมือน ‘นิคเนม’ ของ
สถานที่ศึกษาและเผยแพร่ธรรมในพุทธศาสนาที่ท่านพุทธทาสสร้างขึ้นต้นสายปลายเหตุที่ท่านอาจารย์สร้างสวนโมกข์ขึ้นมาก็เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาและเผยแพร่ธรรมะตลอดจนคำสอนของท่านในแบบฉบับของท่านโดยเฉพาะ พูดง่ายๆ คือสร้างขึ้นเพื่อเอื้อให้ท่านได้ทำงานตามปณิธาน สามารถทำกิจกรรมได้โดยอิสระไม่ต้องขออนุญาตมหาเถรสมาคมซึ่งมีขั้นตอนมากมายจนบางครั้งก็กลายเป็นข้อจำกัดต่อการทำงานในแบบของท่าน ซึ่งผมมองว่าเป็นความชาญฉลาดในการประนีประนอมเพื่อการทำความดีและไม่ต้องมาวุ่นวายกับปัญหาที่จะเกิดตามมา...และหลังจากที่ท่านอาจารย์มรณภาพจึงมีคณะศิษย์ที่ศรัทธาร่วมกันสร้างสวนโมกข์กรุงเทพฯ หรือหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งตั้งอยู่ที่สวนวชิรเบญทัศ (สวนรถไฟ)...
ผมมักพูดกับผู้ใกล้ชิดเสมอๆ ว่า สวนโมกข์กรุงเทพฯ คือป้ายโฆษณาที่นำคนมาสู่ธรรมะของท่านพุทธทาสที่ใหญ่ที่สุด เพราะคนทั่วโลกที่มีความสนใจการฝึกปฏิบัติสมาธิและต้องการศึกษาคำสอนของพุทธศาสนาสามารถเข้ามาค้นหาคำตอบ เมื่อได้รู้ ได้เห็น
และได้ทำจากที่นั่นแล้วก็พากันเดินทางมาที่สวนโมกข์วัดธารน้ำไหลและที่พุมเรียง ซึ่งเป็นไปเพื่อศึกษาถึงบ่อเกิดของชีวิตอันจะทำให้เข้าใจแก่นธรรมที่ท่านสอนมากยิ่งขึ้น การกำเนิดและตั้งอยู่ของสวนโมกข์กรุงเทพฯ ไม่เพียงเป็นผลดีต่อการดำรงศาสนาพุทธแต่ยังส่งผลดีต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยเฉพาะอำเภอไชยาในแง่เศรษฐกิจอย่างมากด้วย ผมพูดได้เต็มปากว่าไข่เค็มไชยามีชื่อเสียงได้เพราะมีสวนโมกข์เป็นแหล่งโฆษณาโดยท่านอาจารย์พุทธทาสให้ความสนับสนุน สุราษฎร์ธานีแต่ไหนแต่ไรมาได้ชื่อว่าเป็นเมืองธรรมะ แต่ที่ไชยาธรรมะกับไข่เค็มเป็นของคู่กัน ไข่เค็มไชยาเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารที่มีกรรมวิธีต่างจากไข่เค็มทั่วไป เมื่อมีชาวพุทธต่างถิ่น ชาวต่างชาติต่างภาษาหลั่งไหลมาที่สวนโมกข์ก็ทำให้ความพิเศษของไข่เค็มไชยาแพร่กระจายไป และกลายเป็นของฝากยอดนิยมจนต้องขยับขยายเป็นแผงค้าแหล่งใหญ่ดังที่เห็นในปัจจุบัน
นอกจากนี้มโนราห์ก็ดี หนังตะลุงก็ดี ท่านอาจารย์เชิดชูว่าเป็นสื่อสอนธรรมชั้นเลิศไม่ต่างจากนวนิยาย ภาพยนตร์หรือละคร
ที่สอดแทรกความดีชั่วสอนใจคน เนื้อหาในมโนราห์และหนังตะลุงนั้นมักเล่าเรื่องว่าตัวเอกต้องเดินทางไปต่างเมือง ต้องเสียสละความสุขสบายไปเรียนวิชาจากอาจารย์ผู้เก่งกล้าด้วยความอดทน เมื่อสำเร็จได้วิชาก็นำความรู้ความสามารถนั้นมาปกป้อง ปกครองบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองด้วยทศพิศราชธรรม ส่วนตัวร้ายนั้นต่อให้ร่ำเรียนวิชาเก่งกล้าแค่ไหน หากไม่ได้นำไปทำประโยชน์แก่ผู้อื่นกลับนำไปเบียดเบียนเพื่อประโยชน์ตน ก็ไม่อาจพบความสำเร็จในบั้นปลาย ท่านอาจารย์มองว่ามหรสพคือสื่อการสอนธรรมะที่ควรอนุรักษ์ให้อยู่ในร่องรอย เพราะสามารถเข้าถึงใจคนได้ง่ายกว่าการสอนในวัด เมื่อใดที่ท่านทราบว่ามีนายหนังหรือมโนราห์มาพบ ท่านมักจะบอกกล่าวห้ามปรามไม่ให้นำเรื่องหยาบโลนหรือยั่วยุในทางผิดไปแสดง เรื่องพิธีการต่างๆ ก็เช่นกัน หลายคนเข้าใจผิดว่าท่านไม่สนใจ แท้ที่จริงแล้วท่านอาจารย์พยายามสอนว่าพิธีกรรมควรทำให้ถูกวิธี ไม่ใช่ทำแบบงมงาย เมื่อทำแล้วต้องอธิบายได้ว่าที่ทำอย่างนี้ๆ เพราะอะไร ดีอย่างไร พิธีกรรมที่ชาวบ้านนิยม เช่น เจิมบ้าน เจิมรถ
เมื่อมีคนมาขอท่านก็ทำให้และสอนว่า “เจิมให้แล้ว นึกถึงเรานะ ที่เราบอกเธอว่าอย่าขับเร็วนะ อย่าประมาท ถ้าอย่างนั้นใช้ได้” ท่านมักพูดเฉพาะกับคนใกล้ชิดว่าพิธีกรรมต่างๆ เมื่อทำแล้วต้องเกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านและมีหลายวิธีการที่จะทำได้ แต่ที่เห็นส่วนใหญ่พากันทำโดยหวังลาภสักการะเสียมากกว่า สำหรับเด็กหรือฆราวาสอายุน้อยๆ ที่มาอยู่กับท่าน ท่านจะเกื้อกูล
เท่าที่จำเป็น ท่านสอนให้ช่วยเหลือตัวเองและหมั่นทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ใครทำได้เช่นนั้นท่านจะตอบแทน  ท่านให้ความสำคัญกับการตอบแทนเพื่อเป็นกำลังใจในการทำดีต่อไป แต่ท่านจะยกย่องเฉพาะคนที่ทำความดีอย่างจริงใจเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เท่าที่ผมเห็นมีอยู่เพียง 2 รายเท่านั้น คนแรกเป็นพ่อค้าชาวไชยาที่มาช่วยเหลือกิจการของวัดอย่างทุ่มเทเอาใจใส่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ท่านก็ตอบแทนโดยอนุญาตให้เขาเอากระดูกบรรพบุรุษมาไว้ภายในวัดได้และเป็นรายเดียวที่อนุญาตเช่นนี้ อีกท่านหนึ่งเป็นแม่ชีที่อุทิศตนเพื่อพุทธศาสนาและขวนขวายทำงานช่วยวัดมาตลอดเมื่อพระอาจารย์สร้างศาลาไหว้พระสวดมนต์ ท่านก็ให้ใส่ชื่อแม่ชีท่านนี้ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ ส่วนคำสอนที่เราได้อ่านกันเป็นพันๆ เรื่องท่านอาจารย์เขียนด้วยตัวเองทั้งหมด ท่านบันทึกไว้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของคนรุ่นหลัง ในช่วงท้ายของชีวิตท่านมักบ่นว่าปวดเมื่อยไปหมด ใช้งานเขามากเกินไป มันก็เป็นอย่างนี้”
ถ้าจะสรุปว่าปณิธานของท่านพุทธทาสคืออะไร ส่วนตัวผมคิดว่าเราสามารถดูได้จากการทำงานในชีวิต 3 ช่วงที่ท่านสร้างสวนโมกข์ทั้ง 3 แห่ง ข้อแรกคือการทำความเข้าถึงหัวใจของศาสนา ที่สวนโมกข์เก่านั้นท่านได้ฝึกปฏิบัติตามคำสอนในพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง ทดลองแม้กระทั่งฉันข้าวกับน้ำผักดอง ท่านบอกว่าศาสนาสอนให้ไม่เห็นแก่ตัว ข้อที่สองคือการทำความเข้าใจระหว่างศาสนา ที่สวนโมกข์วัดธารน้ำไหลเคยมีการประชุมศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีใครทราบนัก การประชุมครั้งนั้นมีผู้นำทุกศาสนามาแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจระหว่างศาสนา ท่านอาจารย์ใช้คำว่า ‘ศาสนาสากล’ เพราะทุกศาสนาต่างสอนให้คนรักผู้อื่น ให้สละความเห็นแก่ตัว ในชีวิตช่วงนี้ของท่านตัวผมเองมีโอกาสติดตามไปอยู่ที่วัดชลประทานด้วยหนึ่งเดือน จำได้ว่าวันหนึ่งมีกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยชื่อ ‘ฮัจยีประยูร’ นำขนมมาถวายท่านจนถูกโจมตีว่าการไหว้ท่านพุทธทาสนั้นไม่เหมาะสม ท่านฮัจยีประยูรก็ตอบไปว่า ท่านไหว้บุคคล เพราะท่านพุทธทาสเป็นคนดี ท่านไหว้คุณความดี ไม่ได้ไหว้ลัทธิ ข้อสุดท้ายคือการเปลื้องตนออกจากวัตถุนิยมซึ่งเหมือนโซ่ตรวนที่คอยดึงรั้งให้มนุษย์หลงผิด ฝรั่งทั่วโลกที่มาศึกษาที่สวนโมกข์นานาชาติ ท่านอาจารย์ไม่อนุญาตให้ดูด ดื่ม แม้แต่กาแฟ เพราะท่านต้องการสอน
ให้เรียนรู้การอยู่แบบเรียบง่าย

มนุษย์มักตีค่าความสำเร็จเป็นวัตถุสิ่งของ เกียรติยศชื่อเสียง แต่แท้จริงแล้วความสำเร็จที่มากคุณค่าจนมิอาจประเมินได้คือการสร้างประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ นี่ต่างหากคือความสำเร็จที่ท่านพยายามสอนให้พวกเรา ‘ทำ’ และ ‘เป็น’

คอลัมน์ STAGE OF IDEA
the opposite thing to walk together.
โดย  คุณธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล  (อดีตผวจ. สุราษฎร์ธานีและตรัง)   
....
ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในชีวิตข้าราชการและจากการที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ผมมีความคิดที่ “อยากเห็น” และ “อยากทำ” สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและ
บ้านเมืองมากมายหลายเรื่อง แต่ด้วยภาระหน้าที่และความรับผิดชอบตามปกติในตำแหน่ง
ที่ค่อนข้างหนักหนา รวมถึงความเป็นข้าราชการเองที่มีข้อจำกัด ก็ทำให้ผมไม่มีโอกาสและเวลามากพอที่จะทำสิ่งที่คิดไว้ได้ครบทุกเรื่อง... 
.....
   โดยเฉพาะในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น เมืองของเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอุทกภัยใหญ่หลายครั้ง ที่หนักที่สุดซึ่งหลายคนยังจดจำได้มาถึงวันนี้เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 สืบเนื่องมาจากวิปริตอากาศแปรปรวนจนส่งผลให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวันหลายคืน เป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยร้ายแรงที่สุดในรอบ 70 ปี นั่นก็ทำให้ผมต้องทุ่มเทเวลาเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจนไม่มีโอกาสได้ทำในหลายเรื่องที่อยากทำ และวันนี้เรื่องเหล่านั้นก็ยังตกค้างอยู่ในสมองของผม...คอลัมน์นี้จึงเป็นเสมือนเวทีที่ให้ผมได้นำสิ่งที่ตกค้างนั้นมาพูดคุย บางเรื่องก็เป็นความคิดสดๆ ที่ยังไม่ผ่านการวางแผน บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่มีการลงมือปฏิบัติไปบ้างแล้วแต่ยังไม่สำเร็จลุล่วงด้วยเกิดปัญหาอุปสรรคหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงบางประการ สิ่งที่ผมนำมาพูดผ่านคอลัมน์นี้จึงเป็นเพียงแนวคิดที่นำมาเล่าให้ฟังด้วยมุ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม หากจะมีใครสักคนนำไปคิดต่อยอดหรือนำไปปฏิบัติสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองที่มีศักยภาพหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเก่าแก่อันทรงคุณค่า ทั้งภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม สำคัญอยู่ที่ว่าเราจะเลือกประเด็นความคิดอะไรมาใช้ขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อย่างยืนยาวและมั่นคง...สำหรับคนที่ชอบความต่อเนื่องก็มักจะมีแนวคิดว่าเรื่องอะไรดีมาแล้วแต่อดีต ก็ควรรักษาความดีนั้นไว้อย่าให้สูญหาย ไม่ว่าจะเป็นสมัยไหน ใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำ ก็สามารถสานต่อความคิดและการปฏิบัติไปได้จนเรื่องนั้นจบและสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น ส่วนคนที่ชอบความเปลี่ยนแปลงก็มีแนวคิดว่าการพลิกโฉมสร้างสิ่งใหม่คือเรื่องที่ควรทำ ดังนั้น เมื่อได้โอกาสคราวใดก็มักจะยกกระบิเปลี่ยนทุกทีทุกเรื่องไป โครงการก็เปลี่ยน วิธีการทำงานก็เปลี่ยน เปลี่ยนกระทั่งวิสัยทัศน์ขององค์กร ในฉบับนี้ผมจึงขอยกหัวข้อว่าด้วยเรื่อง “ความต่อเนื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเปลี่ยนแปลง” มาเสวนากับคุณผู้อ่านในมุมมองของผมนั้น เวลานี้ผมอยากเห็นความต่อเนื่องสำคัญกว่าการเปลี่ยนแปลง เพราะอะไร.....
     ผมมักจะถามตัวเองเสมอๆ ว่า แต่ไหนแต่ไรมาสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองที่มีศักยภาพหรือไม่ เช่น เป็นเมืองที่น่ากิน น่าอยู่ใช่ไหม เป็นเมืองการเกษตรและอุตสาหกรรมใช่ไหม เป็นเมืองท่องเที่ยวใช่ไหม เป็นอาณาจักรประวัติศาสตร์ศรีวิชัยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ใช่ไหม และผมยังมองเห็นว่านับแต่อดีตจนปัจจุบันสุราษฎร์ธานียังเป็นเมืองที่เป็นอะไรๆ ดีๆ อีกตั้งหลายอย่าง แต่เมื่อถามว่าแล้วขณะนี้ลูกหลานของเราที่อยู่ในช่วงอายุ 25-30 ปีเล่าเรื่องความ
ต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบันที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน...คำตอบคือเล่าไม่ได้!...นั่นแสดงว่าความต่อเนื่องในเรื่องดีๆ ของบ้านเมืองได้ถูกตัดขาด มันได้ถูกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามาแทรกซ้อน ผมค้นหาต่อไปว่าสิ่งที่แทรกซ้อนนั้นคืออะไร แล้วคำตอบก็มาหยุดที่ “ความเปลี่ยนแปลงที่มุ่งหวังแต่จะสร้างใหม่” แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องดี แต่มันก็มีผลเสียซ่อนอยู่ โดยเฉพาะเมื่อมุ่งหวังแต่เพียงการสร้างใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากแล้ว ยังเป็นตัวการที่ทำให้เมืองของเราไม่เข้มแข็ง ทำให้เมืองของเราไม่มีประวัติศาสตร์ ทำให้เมืองของเราไม่สามารถเอาความเป็นเมืองมาขายสู่สาธารณะได้ทั้งในรูปแบบของการท่องเที่ยวและรูปแบบของการแข่งขันทางอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นฐานรากที่แท้จริงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด...แต่ถ้าเราเห็นตรงกันข้ามว่าความต่อเนื่องมีสาระ เราก็จะไปหยิบของดีจากอดีตขึ้นมาดูและคิดว่าจะทำอย่างไรให้คงอยู่ด้วยการฟื้นฟูในรูปแบบวิธีที่เหมาะสม เพื่อปลายทางจะจบลงที่ความต่อเนื่องของตัวตนของเราสามารถย้อนกลับมาผลิตประโยชน์คืนแก่เราได้ไม่รู้จบ 
      ผมเคยถามตัวเองในเวลาที่ได้ทานอาหารอร่อยๆ ว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเขาจะได้กินของอร่อยแบบนี้ไหม และเขาจะรู้หรือไม่ว่าหาซื้อที่ใด  สถานที่สวยงามในสุราษฎร์ฯ ในอดีตและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คืออะไร เวลานี้ยังน่าเที่ยวอยู่หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อนึกถึงวัดพระบรมธาตุไชยา ผมมักจะถามว่าขณะนี้เรามีที่จอดรถที่สามารถรับนักท่องเที่ยวจำนวน 100 คนหรือนักท่องเที่ยวสัก 2– 4 รสบัสได้หรือไม่ เมื่อเข้าไปแล้วบรรยากาศแวดล้อมจะแห้งแล้งหรือสมบูรณ์พอให้พักสายตา พักร้อนหรือไม่ ห้องสุขาสภาพเป็นอย่างไร จะอดอยากปากแห้งเพราะมีแต่ของไร้คุณภาพมาวางจำหน่ายหรือไม่ ผมพยายามคิดถึงปัจจัยที่จะทำให้นักท่องเที่ยวอยากกลับมาเยือนอีกครั้ง...เหตุที่ผมต้องถามตัวเองเช่นนั้นก็เพื่อให้เกิดการต่อยอดความคิดว่าในฐานะผู้นำในเวลานั้นหรือเป็นพลเมืองชาวสุราษฎร์ฯ ในเวลานี้เราต้องผลักดันการฟื้นฟูสิ่งนั้นอย่างไรจึงจะเกิดความต่อเนื่อง และความเปลี่ยนแปลงจะไม่ทำลายสถานที่ที่อยู่คู่เมืองสุราษฎร์ฯ ให้ด้อยค่าลง....ทำนองเดียวกับพระธาตุศรีสุราษฎร์ วันนี้นักท่องเที่ยวรู้หรือไม่ว่านี่คือภูเขาลูกเดียวที่สูงสุดของบ้านดอน เป็นที่ที่มาแล้วจะมองเห็นทิวทัศน์ของบ้านดอนในมุมสูงที่สวยงามที่สุด และเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิด แม้แต่ศาลหลักเมืองก็เช่นกัน คนสุราษฎร์ฯ รุ่นใหม่รู้หรือไม่ว่าก่อนหน้าที่จะสร้างขึ้นมานั้น เราต้องใช้มันสมองขบคิดทั้งรูปแบบและความเหมาะสมในด้านต่างๆ อย่างมากเพื่อให้เป็นศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจ มิใช่สร้างเพียงอาคารที่ประกอบด้วยอิฐหินดินปูน วันนี้เราได้ใช้สถานที่นี้เพื่อทำกิจกรรมที่สมประโยชน์ สมคุณค่าแล้วหรือยัง...วัดวาอารามก็เช่นกันทุกอำเภอล้วนมีวัดที่เก่าแก่หรือไม่ก็ทรงคุณค่าต่อจิตใจเพราะเป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์ผู้มีปฏิปทา แต่เรากลับปล่อยปละความสำคัญ
นั้นมิได้สร้างความต่อเนื่องจนหลายแห่งเริ่มจะล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา 
    สมัยที่ผมดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ผมเคยคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะผลักดัน “โครงการ 1 วัดดี 1 อำเภอ” เพราะวัดไม่ได้เป็นแค่ที่พำนักของพระ หากยังเป็นที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข เป็นที่บ่มนิสัยประชาชนและเยาวชน เป็นที่สืบสานภูมิปัญญาด้านประเพณีพื้นถิ่นของมนุษย์ และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ปลดปล่อยมนุษย์จากความทุกข์ทั้งมวล วัดจึงมักเป็นสถานที่ที่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาชอบมาเยือน เรื่องราวของท่านพุทธทาสภิกขุก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์มาแล้ว ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นท่านเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติทุกศาสนาในเรื่องหลักสูตรสมาธิ คำสอนของท่านเป็นสัจธรรมที่ถ่ายทอดผ่านภาษาที่เรียบง่ายแต่กินใจ ไม่ว่าชนใดภาษาใดเมื่อรับรู้ก็เข้าใจได้ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของท่านขจรกระจายไปทั่วโลก ในยุคนั้นคนที่มีโอกาสสัมผัสท่านอย่างใกล้ชิดและเข้าใจเรื่องที่ท่านสอนมากที่สุดก็คือชาวสุราษฎร์ธานี วันนี้ท่านไม่ได้อยู่กับเราแล้ว เราจึงต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสานความดีของท่านให้ต่อเนื่องไปถึงลูกหลาน เราจะจับธรรมะที่ท่านสอนมาพูดคุยกับเยาวชนชาวสุราษฎร์ฯ และคนอายุ 25-30 ในวันนี้ให้เข้าใจและนำมาปฏิบัติซึ่งจะเป็นการสืบสานและเผยแพร่คำสอนของท่านให้ยืนยงต่อไปได้อย่างไร...
  แต่เท่าที่ผมเห็นวันนี้เรากำลังมุ่งเปลี่ยนแปลงอย่างโหมหนักแต่เฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเล...ความจริงแล้วผมมิได้คัดค้านการเปลี่ยนแปลงเพื่อความทันสมัยทันโลก หากแต่จะติงให้พวกเราเห็นความสำคัญของการพัฒนาที่สร้างความต่อเนื่องเชื่อมระหว่างอดีตกับปัจจุบันและอนาคตว่ามิอาจถูกละเลยหรือทิ้งขว้าง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความอ่อนด้อยเพราะเราไม่อาจรับมือกับความเป็นจริงในวันนี้และในอนาคตได้ ผมมีความเห็นว่าเราควรให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องไม่น้อยไปกว่าการเปลี่ยนแปลงโดยทำการฟื้นฟูสิ่งเก่าแก่ดั้งเดิมที่มีค่าและพัฒนาเฉพาะสิ่งที่ควรเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเป็นไปของยุคสมัย หรือที่ผมเรียกว่า “การทำความต่อเนื่องให้เกิดประโยชน์ยั่งยืน” เพราะผมเชื่อว่านี่จะเป็นหนทางสร้างเมืองของเราให้มีความเข้มแข็งและสามารถรองรับความต้องการของผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาจากการเปิดการค้าเสรีอาเซียนได้ จำนวนประชากรใน AEC ปัจจุบันนี้มีอยู่ 600 กว่าล้านคน หากนับ
รวมชาวต่างชาตินอกภูมิภาคที่มาทำมาหากินในแต่ละประเทศสมาชิกย่อมมีจำนวนมากกว่านี้ ในจำนวนนี้มีประชากรที่นับถือศาสนาทั้งคริสต์ พุทธ มุสลิม ปะปนกันอยู่ เราจึงต้องคิดว่าปัจจัยหลักที่คนเหล่านี้ต้องการเพื่อการดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขมีอะไรบ้าง เช่น ถามตัวเองว่าเมืองของเรามีมัสยิดที่สวยงามไหม ศาลเจ้ามีกี่แห่ง แหล่งอาหารมุสลิมหรืออาหารจีนดั้งเดิมของเมืองเราอยู่ที่ไหน และทำอย่างไรสิ่งเหล่านี้จึงจะถูกรับรู้และเป็นที่รับรองผู้มาเยือนได้ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องฟื้นฟูให้คงความต่อเนื่อง
     
ผมหวังและร้องขอให้ “เรา” ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เอกชนและประชาชนให้ความสำคัญกับความเป็นจริงของเมืองเพื่อการพัฒนาที่ต่อเนื่องเสียที อย่าได้มุ่งแต่การสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยหลงลืมของเก่าที่มีค่า เพราะจะเป็นการทำลายความต่อเนื่อง

จนไม่อาจสร้างเป็นประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็นไปอย่างน่าเสียดาย

EDITOR TALK นิตยสาร "เมืองคนดี" # 8 Free Copy @Suratthani Province, Thailand

EDITOR TALK
Free Copy @Suratthani Province, Thailand
นิตยสาร "เมืองคนดี" ฉบับที่ 8
ช่วงนี้เทคโนยีและนวัตกรรมการติดต่อสื่อสารพัฒนาไปเร็ว
มากครับ  อะไรๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์พากัน
อัปเดตเวอร์ชันเร็วจี๋จนผมซึ่งเป็นคนที่สนใจและให้ความสำคัญด้านไอทีโหลดข้อมูลเข้าสมองแทบไม่ทัน  ไหนจะมี แอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่
เกิดขึ้นมากมายเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปตาม
ไลฟ์สไตล์โลกยุคดิจิทัล พูดได้ว่าการตลาดของสินค้าทุกประเภทในวันนี้กำลังถึงจุดพลิกโฉมหน้า ด้วยการนำสื่อดิจิทัลและโซเชียล
มีเดียมาเป็นช่องทางเข้าไปกระชากใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย จนรัฐบาลต้องหันมาสนับสนุนธุรกิจ Start up เป็นเรื่องเป็นราว
การพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น
ทุกวันครับ เราเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อไม่ได้อย่างใจ เมื่อทนทุกข์
ต่อไปไม่ไหวก็ต้องพัฒนาหาทางแก้ไข แต่ไม่มีการพัฒนาใดเลยที่จะ
คงทนถาวรชั่วกาลปาวสาน ส่วนตัวผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะจรรโลงประโยชน์ได้เต็มศักยภาพตามอายุการใช้งานของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ จะต้องตั้งอยู่บนรากฐานเดิมของ ‘ความเป็นเรา’ และต้อง
ไม่ขัดต่อ ‘สภาวะของธรรมชาติ’ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา
ผมพบว่าเมื่อใดที่อวดดีงัดค้านกับธรรมชาติและความเป็นเรา ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงนั้นจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองทุกที
...ผมเลยตีความเอาว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายความถึงการโละของเก่าทิ้งเสมอไป แต่แค่เราเติมสิ่งใหม่ให้ทันกระแสโลกเพื่อเพิ่มมูลค่าและเชิดชูคุณค่าของสิ่งเดิมๆ ที่เรามีอยู่อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับธรรมชาติทั้งด้านภูมิศาสตร์และด้านจิตวิญญาณ ก็จะสามารถสร้าง
‘ความรู้สึกใหม่ในของเก่า’ และสร้างประโยชน์ต่อเนื่องจนกว่าจะถึง
กาลแห่งการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งได้...  
ฉบับนี้ ‘เมืองคนดี’ จึงขอยกประเด็น “การเปลี่ยนแปลงบนความจริงของตัวเราและธรรมชาติ” มานำเสนอ เราจะพาคุณไปรับรู้ว่าอะไรบ้างที่สุราษฎร์ธานีในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างเดินหน้าการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องมือสำคัญของการผลักดันเศรษฐกิจ และมันถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้ชาว
สุราษฎร์ฯ ได้หรือไม่ อ่านเรื่องราวเหล่านี้ได้จากบทสัมภาษณ์ผู้นำองค์กรและผู้บริหารท้องถิ่นทั้ง 3 ท่านที่ให้เกียรติอย่างสูงในการมาขึ้นปก พร้อมกันนี้ก็ยังมีข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับการทำงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เรานำมาฝากอีกหลายคอลัมน์ ไม่ว่า
จะเป็น stage of idea โดยท่านธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล อดีตผวจ.สุราษฎร์ธานีและตรัง woman@work คุณสุภาพร บุญจริง ปลัดหญิง
คนเก่งและแกร่งแห่งเทศบาลนครสุราษฎร์ฯ speak out เรื่องธนาคารต้นไม้ โดยพระอาจารย์ชลธาร ถาวโร หัวหน้าพุทธอุทยานสำนักสงฆ์ถ้ำเขาเพ-ลา และผู้รับผิดชอบธนาคารต้นไม้เขต 8... และที่จะพลาดไม่ได้คือคอลัมน์ on the way ฉบับนี้พาไปเที่ยวเมืองเก่าท่าชนะ เมืองที่ผมมักจะถูกเพื่อนถามอยู่บ่อยๆ ว่า
มีที่ให้เที่ยวด้วยหรือ..?!  สปอยด์ตรงนี้เลยว่า...มีเยอะครับ และน่าเที่ยวมากเสียด้วย! คุณจะได้สัมผัสทั้งกลิ่นอายความเก่าที่
เต็มไปด้วยภูมิปัญญาอันมีค่า และความเป็นธรรมชาติแห่งท้องทะเล
บนเส้นทางท่องเที่ยวสายใหม่แกะกล่อง...
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณจะมีความสุขและได้สาระประโยชน์จากเรื่องราวในเล่ม...แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

บก.ป้อม เมืองคนดี
 บรรณาธิการบริหาร /Editor in Chief
โทร. 099 119 1555, 084 940 2289
Line : mkd999