วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2560

คอลัมน์ SOUL&SPIRIT พุทธทาสภิกขุ ความทรงจำด้วยหัวใจแห่งศรัทธา (ตอนที่ 3) ‘‘ความสำเร็จแท้จริงคือการสร้างประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์’’

พุทธทาสภิกขุ ความทรงจำด้วยหัวใจแห่งศรัทธา (ตอนที่ 3) ‘‘ความสำเร็จแท้จริงคือการสร้างประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์’’ โดย คุณณรงค์ เสมียนเพชร
(คอลัมน์ SOUL&SPIRIT จากนิตยสารฟรีก็อปปี้ จ.สุราษฎร์ธานี นิตยสาร "เมืองคนดี" ฉบับที่ 8)

....เมื่อพูดถึงท่านพุทธทาสภิกขุแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้คนจะนึกถึงนอกเหนือจากคำสอนอันลึกซึ้งของท่านก็คือสวนโมกขพลารามหรือสวนโมกข์...
สวนโมกข์ที่ท่านอาจารย์สร้างเองนั้นมีอยู่ 3 แห่ง คือ ‘สวนโมกข์เก่า’หรือตระพังจิก ในตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา ‘สวนโมกข์วัดธารน้ำไหล’ณ เชิงเขาพุทธทอง อำเภอไชยา และ ‘สวนโมกข์นานาชาติ’  ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสวนโมกข์แห่งที่สอง การกำเนิดของสวนโมกข์นั้นมิได้สำเร็จโดยกำลังท่านพระอาจารย์แต่เพียงลำพัง หากยังมีแรงสนับสนุนสำคัญจากคณะธรรมทาน ซึ่งนายธรรมทาส พานิช น้องชายของท่านได้รวบรวมญาติมิตรที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนาจัดตั้งเป็นคณะขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2472 บทบาทของคณะธรรมทานในช่วงแรกนี้คือการรวบรวมหนังสือธรรมะทั้งภาษาไทยและต่างประเทศมาจัดใส่หีบเรียกว่า ‘หีบหนังสือ’ ตั้งไว้ให้คนทั่วไปได้อ่านตามอัธยาศัย ต่อมาราวปลายปี พ.ศ. 2474 ท่านอาจารย์มีความคิดที่จะหาสถานที่
เพื่อสร้างประโยชน์ด้านการศึกษาและเผยแพร่พุทธศาสนาทั้งแก่ตัวท่านเองและพระเณรที่สนใจ ท่านจึงได้เขียนจดหมายปรารภกับนายธรรมทาส ที่สุดก็ตกลงใจกันว่าควรจะสร้างเสียที่บ้านเกิด เมื่อคณะธรรมทานได้ทราบความประสงค์จึงปวารณาตัวออกสำรวจพื้นที่ นำโดยนายเที่ยง จันทเวช นายดาว ใจสะอาด นายฉัว วรรณกลัด นายเนิน วงษ์วานิช นายกวย กิ่งไม้แดง และต่างก็เห็นพ้องกันว่าควรจะใช้พื้นที่ของวัดตระพังจิกซึ่งเวลานั้นเป็นวัดร้าง แล้วช่วยกันบูรณะปรับปรุงพื้นที่อย่างง่ายๆ ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ถือเอาวันวิสาขบูชา เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2475 เป็นวันจำวัดครั้งแรกและเปิดกิจการสวนโมกข์พุมเรียงในวันเดียวกันนั้นเอง...ชื่อ สวนโมกขพลารามก็มีกำเนิดมาจากที่นี่ เนื่องจากรอบบริเวณเต็มไปด้วยต้นโมกและต้นพลา ท่านอาจารย์จึงนำคำทั้งสองและคำว่า ‘อาราม’ มาสมาส สนธิตามหลักภาษาบาลีสันสกฤต เกิดเป็นคำว่า ‘โมกขพลาราม’ แปลว่ากำลังแห่งความหลุดพ้นทุกข์...แต่ต่อมาท่านอาจารย์ต้องเดินทางไปกิจนิมนต์และสอนธรรมะในที่ต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง จำต้องไปอาศัยจำวัดที่อื่นเสมอๆ ท่านจึงมีดำริสร้างสวนโมกข์แห่งใหม่ที่ริมเขาพุทธทอง โดยได้ย้ายสวนโมกข์จากพุมเรียงมาอยู่ที่นี่เมื่อปี พ.ศ. 2485 และเนื่องจากมีธารน้ำไหลผ่าน เมื่อต้องจดทะเบียนเป็นวัดตามระเบียบของทางการ จึงใช้ชื่อว่า ‘วัดธารน้ำไหล’
ตลอดเวลาที่วัดธารน้ำไหลท่านอาจารย์มิได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอย่างที่หลายคนเข้าใจ ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเพียงที่เดียวก็คือวัดพระบรมธาตุไชยา ส่วนเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดธารน้ำไหลคือพระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร) แม้แต่
สวนโมกข์เองก็มิได้เป็นส่วนหนึ่งของวัดมาตั้งแต่เริ่มแรก หากมาจดทะเบียนขึ้นตรงกับวัดธารน้ำไหลในภายหลังเพื่อให้ตรงตามระเบียบของมหาเถรสมาคม แต่คนทั่วไปมักเรียกวัดธารน้ำไหลว่าสวนโมกข์ ต่อมาคำว่าสวนโมกข์จึงเป็นเสมือน ‘นิคเนม’ ของ
สถานที่ศึกษาและเผยแพร่ธรรมในพุทธศาสนาที่ท่านพุทธทาสสร้างขึ้นต้นสายปลายเหตุที่ท่านอาจารย์สร้างสวนโมกข์ขึ้นมาก็เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาและเผยแพร่ธรรมะตลอดจนคำสอนของท่านในแบบฉบับของท่านโดยเฉพาะ พูดง่ายๆ คือสร้างขึ้นเพื่อเอื้อให้ท่านได้ทำงานตามปณิธาน สามารถทำกิจกรรมได้โดยอิสระไม่ต้องขออนุญาตมหาเถรสมาคมซึ่งมีขั้นตอนมากมายจนบางครั้งก็กลายเป็นข้อจำกัดต่อการทำงานในแบบของท่าน ซึ่งผมมองว่าเป็นความชาญฉลาดในการประนีประนอมเพื่อการทำความดีและไม่ต้องมาวุ่นวายกับปัญหาที่จะเกิดตามมา...และหลังจากที่ท่านอาจารย์มรณภาพจึงมีคณะศิษย์ที่ศรัทธาร่วมกันสร้างสวนโมกข์กรุงเทพฯ หรือหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งตั้งอยู่ที่สวนวชิรเบญทัศ (สวนรถไฟ)...
ผมมักพูดกับผู้ใกล้ชิดเสมอๆ ว่า สวนโมกข์กรุงเทพฯ คือป้ายโฆษณาที่นำคนมาสู่ธรรมะของท่านพุทธทาสที่ใหญ่ที่สุด เพราะคนทั่วโลกที่มีความสนใจการฝึกปฏิบัติสมาธิและต้องการศึกษาคำสอนของพุทธศาสนาสามารถเข้ามาค้นหาคำตอบ เมื่อได้รู้ ได้เห็น
และได้ทำจากที่นั่นแล้วก็พากันเดินทางมาที่สวนโมกข์วัดธารน้ำไหลและที่พุมเรียง ซึ่งเป็นไปเพื่อศึกษาถึงบ่อเกิดของชีวิตอันจะทำให้เข้าใจแก่นธรรมที่ท่านสอนมากยิ่งขึ้น การกำเนิดและตั้งอยู่ของสวนโมกข์กรุงเทพฯ ไม่เพียงเป็นผลดีต่อการดำรงศาสนาพุทธแต่ยังส่งผลดีต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยเฉพาะอำเภอไชยาในแง่เศรษฐกิจอย่างมากด้วย ผมพูดได้เต็มปากว่าไข่เค็มไชยามีชื่อเสียงได้เพราะมีสวนโมกข์เป็นแหล่งโฆษณาโดยท่านอาจารย์พุทธทาสให้ความสนับสนุน สุราษฎร์ธานีแต่ไหนแต่ไรมาได้ชื่อว่าเป็นเมืองธรรมะ แต่ที่ไชยาธรรมะกับไข่เค็มเป็นของคู่กัน ไข่เค็มไชยาเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารที่มีกรรมวิธีต่างจากไข่เค็มทั่วไป เมื่อมีชาวพุทธต่างถิ่น ชาวต่างชาติต่างภาษาหลั่งไหลมาที่สวนโมกข์ก็ทำให้ความพิเศษของไข่เค็มไชยาแพร่กระจายไป และกลายเป็นของฝากยอดนิยมจนต้องขยับขยายเป็นแผงค้าแหล่งใหญ่ดังที่เห็นในปัจจุบัน
นอกจากนี้มโนราห์ก็ดี หนังตะลุงก็ดี ท่านอาจารย์เชิดชูว่าเป็นสื่อสอนธรรมชั้นเลิศไม่ต่างจากนวนิยาย ภาพยนตร์หรือละคร
ที่สอดแทรกความดีชั่วสอนใจคน เนื้อหาในมโนราห์และหนังตะลุงนั้นมักเล่าเรื่องว่าตัวเอกต้องเดินทางไปต่างเมือง ต้องเสียสละความสุขสบายไปเรียนวิชาจากอาจารย์ผู้เก่งกล้าด้วยความอดทน เมื่อสำเร็จได้วิชาก็นำความรู้ความสามารถนั้นมาปกป้อง ปกครองบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองด้วยทศพิศราชธรรม ส่วนตัวร้ายนั้นต่อให้ร่ำเรียนวิชาเก่งกล้าแค่ไหน หากไม่ได้นำไปทำประโยชน์แก่ผู้อื่นกลับนำไปเบียดเบียนเพื่อประโยชน์ตน ก็ไม่อาจพบความสำเร็จในบั้นปลาย ท่านอาจารย์มองว่ามหรสพคือสื่อการสอนธรรมะที่ควรอนุรักษ์ให้อยู่ในร่องรอย เพราะสามารถเข้าถึงใจคนได้ง่ายกว่าการสอนในวัด เมื่อใดที่ท่านทราบว่ามีนายหนังหรือมโนราห์มาพบ ท่านมักจะบอกกล่าวห้ามปรามไม่ให้นำเรื่องหยาบโลนหรือยั่วยุในทางผิดไปแสดง เรื่องพิธีการต่างๆ ก็เช่นกัน หลายคนเข้าใจผิดว่าท่านไม่สนใจ แท้ที่จริงแล้วท่านอาจารย์พยายามสอนว่าพิธีกรรมควรทำให้ถูกวิธี ไม่ใช่ทำแบบงมงาย เมื่อทำแล้วต้องอธิบายได้ว่าที่ทำอย่างนี้ๆ เพราะอะไร ดีอย่างไร พิธีกรรมที่ชาวบ้านนิยม เช่น เจิมบ้าน เจิมรถ
เมื่อมีคนมาขอท่านก็ทำให้และสอนว่า “เจิมให้แล้ว นึกถึงเรานะ ที่เราบอกเธอว่าอย่าขับเร็วนะ อย่าประมาท ถ้าอย่างนั้นใช้ได้” ท่านมักพูดเฉพาะกับคนใกล้ชิดว่าพิธีกรรมต่างๆ เมื่อทำแล้วต้องเกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านและมีหลายวิธีการที่จะทำได้ แต่ที่เห็นส่วนใหญ่พากันทำโดยหวังลาภสักการะเสียมากกว่า สำหรับเด็กหรือฆราวาสอายุน้อยๆ ที่มาอยู่กับท่าน ท่านจะเกื้อกูล
เท่าที่จำเป็น ท่านสอนให้ช่วยเหลือตัวเองและหมั่นทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ใครทำได้เช่นนั้นท่านจะตอบแทน  ท่านให้ความสำคัญกับการตอบแทนเพื่อเป็นกำลังใจในการทำดีต่อไป แต่ท่านจะยกย่องเฉพาะคนที่ทำความดีอย่างจริงใจเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เท่าที่ผมเห็นมีอยู่เพียง 2 รายเท่านั้น คนแรกเป็นพ่อค้าชาวไชยาที่มาช่วยเหลือกิจการของวัดอย่างทุ่มเทเอาใจใส่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ท่านก็ตอบแทนโดยอนุญาตให้เขาเอากระดูกบรรพบุรุษมาไว้ภายในวัดได้และเป็นรายเดียวที่อนุญาตเช่นนี้ อีกท่านหนึ่งเป็นแม่ชีที่อุทิศตนเพื่อพุทธศาสนาและขวนขวายทำงานช่วยวัดมาตลอดเมื่อพระอาจารย์สร้างศาลาไหว้พระสวดมนต์ ท่านก็ให้ใส่ชื่อแม่ชีท่านนี้ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ ส่วนคำสอนที่เราได้อ่านกันเป็นพันๆ เรื่องท่านอาจารย์เขียนด้วยตัวเองทั้งหมด ท่านบันทึกไว้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของคนรุ่นหลัง ในช่วงท้ายของชีวิตท่านมักบ่นว่าปวดเมื่อยไปหมด ใช้งานเขามากเกินไป มันก็เป็นอย่างนี้”
ถ้าจะสรุปว่าปณิธานของท่านพุทธทาสคืออะไร ส่วนตัวผมคิดว่าเราสามารถดูได้จากการทำงานในชีวิต 3 ช่วงที่ท่านสร้างสวนโมกข์ทั้ง 3 แห่ง ข้อแรกคือการทำความเข้าถึงหัวใจของศาสนา ที่สวนโมกข์เก่านั้นท่านได้ฝึกปฏิบัติตามคำสอนในพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง ทดลองแม้กระทั่งฉันข้าวกับน้ำผักดอง ท่านบอกว่าศาสนาสอนให้ไม่เห็นแก่ตัว ข้อที่สองคือการทำความเข้าใจระหว่างศาสนา ที่สวนโมกข์วัดธารน้ำไหลเคยมีการประชุมศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีใครทราบนัก การประชุมครั้งนั้นมีผู้นำทุกศาสนามาแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจระหว่างศาสนา ท่านอาจารย์ใช้คำว่า ‘ศาสนาสากล’ เพราะทุกศาสนาต่างสอนให้คนรักผู้อื่น ให้สละความเห็นแก่ตัว ในชีวิตช่วงนี้ของท่านตัวผมเองมีโอกาสติดตามไปอยู่ที่วัดชลประทานด้วยหนึ่งเดือน จำได้ว่าวันหนึ่งมีกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยชื่อ ‘ฮัจยีประยูร’ นำขนมมาถวายท่านจนถูกโจมตีว่าการไหว้ท่านพุทธทาสนั้นไม่เหมาะสม ท่านฮัจยีประยูรก็ตอบไปว่า ท่านไหว้บุคคล เพราะท่านพุทธทาสเป็นคนดี ท่านไหว้คุณความดี ไม่ได้ไหว้ลัทธิ ข้อสุดท้ายคือการเปลื้องตนออกจากวัตถุนิยมซึ่งเหมือนโซ่ตรวนที่คอยดึงรั้งให้มนุษย์หลงผิด ฝรั่งทั่วโลกที่มาศึกษาที่สวนโมกข์นานาชาติ ท่านอาจารย์ไม่อนุญาตให้ดูด ดื่ม แม้แต่กาแฟ เพราะท่านต้องการสอน
ให้เรียนรู้การอยู่แบบเรียบง่าย

มนุษย์มักตีค่าความสำเร็จเป็นวัตถุสิ่งของ เกียรติยศชื่อเสียง แต่แท้จริงแล้วความสำเร็จที่มากคุณค่าจนมิอาจประเมินได้คือการสร้างประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ นี่ต่างหากคือความสำเร็จที่ท่านพยายามสอนให้พวกเรา ‘ทำ’ และ ‘เป็น’

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น