วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2560

คอลัมน์ STAGE OF IDEA
the opposite thing to walk together.
โดย  คุณธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล  (อดีตผวจ. สุราษฎร์ธานีและตรัง)   
....
ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในชีวิตข้าราชการและจากการที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ผมมีความคิดที่ “อยากเห็น” และ “อยากทำ” สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและ
บ้านเมืองมากมายหลายเรื่อง แต่ด้วยภาระหน้าที่และความรับผิดชอบตามปกติในตำแหน่ง
ที่ค่อนข้างหนักหนา รวมถึงความเป็นข้าราชการเองที่มีข้อจำกัด ก็ทำให้ผมไม่มีโอกาสและเวลามากพอที่จะทำสิ่งที่คิดไว้ได้ครบทุกเรื่อง... 
.....
   โดยเฉพาะในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น เมืองของเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอุทกภัยใหญ่หลายครั้ง ที่หนักที่สุดซึ่งหลายคนยังจดจำได้มาถึงวันนี้เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 สืบเนื่องมาจากวิปริตอากาศแปรปรวนจนส่งผลให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวันหลายคืน เป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยร้ายแรงที่สุดในรอบ 70 ปี นั่นก็ทำให้ผมต้องทุ่มเทเวลาเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจนไม่มีโอกาสได้ทำในหลายเรื่องที่อยากทำ และวันนี้เรื่องเหล่านั้นก็ยังตกค้างอยู่ในสมองของผม...คอลัมน์นี้จึงเป็นเสมือนเวทีที่ให้ผมได้นำสิ่งที่ตกค้างนั้นมาพูดคุย บางเรื่องก็เป็นความคิดสดๆ ที่ยังไม่ผ่านการวางแผน บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่มีการลงมือปฏิบัติไปบ้างแล้วแต่ยังไม่สำเร็จลุล่วงด้วยเกิดปัญหาอุปสรรคหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงบางประการ สิ่งที่ผมนำมาพูดผ่านคอลัมน์นี้จึงเป็นเพียงแนวคิดที่นำมาเล่าให้ฟังด้วยมุ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม หากจะมีใครสักคนนำไปคิดต่อยอดหรือนำไปปฏิบัติสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองที่มีศักยภาพหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเก่าแก่อันทรงคุณค่า ทั้งภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม สำคัญอยู่ที่ว่าเราจะเลือกประเด็นความคิดอะไรมาใช้ขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อย่างยืนยาวและมั่นคง...สำหรับคนที่ชอบความต่อเนื่องก็มักจะมีแนวคิดว่าเรื่องอะไรดีมาแล้วแต่อดีต ก็ควรรักษาความดีนั้นไว้อย่าให้สูญหาย ไม่ว่าจะเป็นสมัยไหน ใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำ ก็สามารถสานต่อความคิดและการปฏิบัติไปได้จนเรื่องนั้นจบและสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น ส่วนคนที่ชอบความเปลี่ยนแปลงก็มีแนวคิดว่าการพลิกโฉมสร้างสิ่งใหม่คือเรื่องที่ควรทำ ดังนั้น เมื่อได้โอกาสคราวใดก็มักจะยกกระบิเปลี่ยนทุกทีทุกเรื่องไป โครงการก็เปลี่ยน วิธีการทำงานก็เปลี่ยน เปลี่ยนกระทั่งวิสัยทัศน์ขององค์กร ในฉบับนี้ผมจึงขอยกหัวข้อว่าด้วยเรื่อง “ความต่อเนื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเปลี่ยนแปลง” มาเสวนากับคุณผู้อ่านในมุมมองของผมนั้น เวลานี้ผมอยากเห็นความต่อเนื่องสำคัญกว่าการเปลี่ยนแปลง เพราะอะไร.....
     ผมมักจะถามตัวเองเสมอๆ ว่า แต่ไหนแต่ไรมาสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองที่มีศักยภาพหรือไม่ เช่น เป็นเมืองที่น่ากิน น่าอยู่ใช่ไหม เป็นเมืองการเกษตรและอุตสาหกรรมใช่ไหม เป็นเมืองท่องเที่ยวใช่ไหม เป็นอาณาจักรประวัติศาสตร์ศรีวิชัยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ใช่ไหม และผมยังมองเห็นว่านับแต่อดีตจนปัจจุบันสุราษฎร์ธานียังเป็นเมืองที่เป็นอะไรๆ ดีๆ อีกตั้งหลายอย่าง แต่เมื่อถามว่าแล้วขณะนี้ลูกหลานของเราที่อยู่ในช่วงอายุ 25-30 ปีเล่าเรื่องความ
ต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบันที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน...คำตอบคือเล่าไม่ได้!...นั่นแสดงว่าความต่อเนื่องในเรื่องดีๆ ของบ้านเมืองได้ถูกตัดขาด มันได้ถูกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามาแทรกซ้อน ผมค้นหาต่อไปว่าสิ่งที่แทรกซ้อนนั้นคืออะไร แล้วคำตอบก็มาหยุดที่ “ความเปลี่ยนแปลงที่มุ่งหวังแต่จะสร้างใหม่” แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องดี แต่มันก็มีผลเสียซ่อนอยู่ โดยเฉพาะเมื่อมุ่งหวังแต่เพียงการสร้างใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากแล้ว ยังเป็นตัวการที่ทำให้เมืองของเราไม่เข้มแข็ง ทำให้เมืองของเราไม่มีประวัติศาสตร์ ทำให้เมืองของเราไม่สามารถเอาความเป็นเมืองมาขายสู่สาธารณะได้ทั้งในรูปแบบของการท่องเที่ยวและรูปแบบของการแข่งขันทางอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นฐานรากที่แท้จริงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด...แต่ถ้าเราเห็นตรงกันข้ามว่าความต่อเนื่องมีสาระ เราก็จะไปหยิบของดีจากอดีตขึ้นมาดูและคิดว่าจะทำอย่างไรให้คงอยู่ด้วยการฟื้นฟูในรูปแบบวิธีที่เหมาะสม เพื่อปลายทางจะจบลงที่ความต่อเนื่องของตัวตนของเราสามารถย้อนกลับมาผลิตประโยชน์คืนแก่เราได้ไม่รู้จบ 
      ผมเคยถามตัวเองในเวลาที่ได้ทานอาหารอร่อยๆ ว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเขาจะได้กินของอร่อยแบบนี้ไหม และเขาจะรู้หรือไม่ว่าหาซื้อที่ใด  สถานที่สวยงามในสุราษฎร์ฯ ในอดีตและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คืออะไร เวลานี้ยังน่าเที่ยวอยู่หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อนึกถึงวัดพระบรมธาตุไชยา ผมมักจะถามว่าขณะนี้เรามีที่จอดรถที่สามารถรับนักท่องเที่ยวจำนวน 100 คนหรือนักท่องเที่ยวสัก 2– 4 รสบัสได้หรือไม่ เมื่อเข้าไปแล้วบรรยากาศแวดล้อมจะแห้งแล้งหรือสมบูรณ์พอให้พักสายตา พักร้อนหรือไม่ ห้องสุขาสภาพเป็นอย่างไร จะอดอยากปากแห้งเพราะมีแต่ของไร้คุณภาพมาวางจำหน่ายหรือไม่ ผมพยายามคิดถึงปัจจัยที่จะทำให้นักท่องเที่ยวอยากกลับมาเยือนอีกครั้ง...เหตุที่ผมต้องถามตัวเองเช่นนั้นก็เพื่อให้เกิดการต่อยอดความคิดว่าในฐานะผู้นำในเวลานั้นหรือเป็นพลเมืองชาวสุราษฎร์ฯ ในเวลานี้เราต้องผลักดันการฟื้นฟูสิ่งนั้นอย่างไรจึงจะเกิดความต่อเนื่อง และความเปลี่ยนแปลงจะไม่ทำลายสถานที่ที่อยู่คู่เมืองสุราษฎร์ฯ ให้ด้อยค่าลง....ทำนองเดียวกับพระธาตุศรีสุราษฎร์ วันนี้นักท่องเที่ยวรู้หรือไม่ว่านี่คือภูเขาลูกเดียวที่สูงสุดของบ้านดอน เป็นที่ที่มาแล้วจะมองเห็นทิวทัศน์ของบ้านดอนในมุมสูงที่สวยงามที่สุด และเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิด แม้แต่ศาลหลักเมืองก็เช่นกัน คนสุราษฎร์ฯ รุ่นใหม่รู้หรือไม่ว่าก่อนหน้าที่จะสร้างขึ้นมานั้น เราต้องใช้มันสมองขบคิดทั้งรูปแบบและความเหมาะสมในด้านต่างๆ อย่างมากเพื่อให้เป็นศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจ มิใช่สร้างเพียงอาคารที่ประกอบด้วยอิฐหินดินปูน วันนี้เราได้ใช้สถานที่นี้เพื่อทำกิจกรรมที่สมประโยชน์ สมคุณค่าแล้วหรือยัง...วัดวาอารามก็เช่นกันทุกอำเภอล้วนมีวัดที่เก่าแก่หรือไม่ก็ทรงคุณค่าต่อจิตใจเพราะเป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์ผู้มีปฏิปทา แต่เรากลับปล่อยปละความสำคัญ
นั้นมิได้สร้างความต่อเนื่องจนหลายแห่งเริ่มจะล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา 
    สมัยที่ผมดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ผมเคยคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะผลักดัน “โครงการ 1 วัดดี 1 อำเภอ” เพราะวัดไม่ได้เป็นแค่ที่พำนักของพระ หากยังเป็นที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข เป็นที่บ่มนิสัยประชาชนและเยาวชน เป็นที่สืบสานภูมิปัญญาด้านประเพณีพื้นถิ่นของมนุษย์ และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ปลดปล่อยมนุษย์จากความทุกข์ทั้งมวล วัดจึงมักเป็นสถานที่ที่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาชอบมาเยือน เรื่องราวของท่านพุทธทาสภิกขุก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์มาแล้ว ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นท่านเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติทุกศาสนาในเรื่องหลักสูตรสมาธิ คำสอนของท่านเป็นสัจธรรมที่ถ่ายทอดผ่านภาษาที่เรียบง่ายแต่กินใจ ไม่ว่าชนใดภาษาใดเมื่อรับรู้ก็เข้าใจได้ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของท่านขจรกระจายไปทั่วโลก ในยุคนั้นคนที่มีโอกาสสัมผัสท่านอย่างใกล้ชิดและเข้าใจเรื่องที่ท่านสอนมากที่สุดก็คือชาวสุราษฎร์ธานี วันนี้ท่านไม่ได้อยู่กับเราแล้ว เราจึงต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสานความดีของท่านให้ต่อเนื่องไปถึงลูกหลาน เราจะจับธรรมะที่ท่านสอนมาพูดคุยกับเยาวชนชาวสุราษฎร์ฯ และคนอายุ 25-30 ในวันนี้ให้เข้าใจและนำมาปฏิบัติซึ่งจะเป็นการสืบสานและเผยแพร่คำสอนของท่านให้ยืนยงต่อไปได้อย่างไร...
  แต่เท่าที่ผมเห็นวันนี้เรากำลังมุ่งเปลี่ยนแปลงอย่างโหมหนักแต่เฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเล...ความจริงแล้วผมมิได้คัดค้านการเปลี่ยนแปลงเพื่อความทันสมัยทันโลก หากแต่จะติงให้พวกเราเห็นความสำคัญของการพัฒนาที่สร้างความต่อเนื่องเชื่อมระหว่างอดีตกับปัจจุบันและอนาคตว่ามิอาจถูกละเลยหรือทิ้งขว้าง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความอ่อนด้อยเพราะเราไม่อาจรับมือกับความเป็นจริงในวันนี้และในอนาคตได้ ผมมีความเห็นว่าเราควรให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องไม่น้อยไปกว่าการเปลี่ยนแปลงโดยทำการฟื้นฟูสิ่งเก่าแก่ดั้งเดิมที่มีค่าและพัฒนาเฉพาะสิ่งที่ควรเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเป็นไปของยุคสมัย หรือที่ผมเรียกว่า “การทำความต่อเนื่องให้เกิดประโยชน์ยั่งยืน” เพราะผมเชื่อว่านี่จะเป็นหนทางสร้างเมืองของเราให้มีความเข้มแข็งและสามารถรองรับความต้องการของผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาจากการเปิดการค้าเสรีอาเซียนได้ จำนวนประชากรใน AEC ปัจจุบันนี้มีอยู่ 600 กว่าล้านคน หากนับ
รวมชาวต่างชาตินอกภูมิภาคที่มาทำมาหากินในแต่ละประเทศสมาชิกย่อมมีจำนวนมากกว่านี้ ในจำนวนนี้มีประชากรที่นับถือศาสนาทั้งคริสต์ พุทธ มุสลิม ปะปนกันอยู่ เราจึงต้องคิดว่าปัจจัยหลักที่คนเหล่านี้ต้องการเพื่อการดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขมีอะไรบ้าง เช่น ถามตัวเองว่าเมืองของเรามีมัสยิดที่สวยงามไหม ศาลเจ้ามีกี่แห่ง แหล่งอาหารมุสลิมหรืออาหารจีนดั้งเดิมของเมืองเราอยู่ที่ไหน และทำอย่างไรสิ่งเหล่านี้จึงจะถูกรับรู้และเป็นที่รับรองผู้มาเยือนได้ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องฟื้นฟูให้คงความต่อเนื่อง
     
ผมหวังและร้องขอให้ “เรา” ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เอกชนและประชาชนให้ความสำคัญกับความเป็นจริงของเมืองเพื่อการพัฒนาที่ต่อเนื่องเสียที อย่าได้มุ่งแต่การสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยหลงลืมของเก่าที่มีค่า เพราะจะเป็นการทำลายความต่อเนื่อง

จนไม่อาจสร้างเป็นประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็นไปอย่างน่าเสียดาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น