วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2560

‘การเลือกทำดี ย่อมนำไปสู่สิ่งที่ดีเสมอ’ และชีวิตของเขาคนนี้ (ดิลก ธโนศวรรย์) ก็คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าประโยคนี้เป็นจริง !!!

Deroke Tanosawan
ดิลก ธโนศวรรย์
"do good for good"
Story : Peeraya   Photo :  Pom (Demand Group)

......ถ้าจะพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวบนฝั่งที่ถือว่าเป็นแม่เหล็กชั้นดีที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้เดินทางมาเยือนจังหวัดสุราษฎร์ฯได้เป็นจำนวนมากหลายปีมานี้คงไม่มีที่ไหนมาแรงเท่า ‘กุ้ยหลินเมืองไทย’ ซึ่งเป็นฉายาที่นักท่องเที่ยวต่างเห็นด้วยในทันทีที่ได้ยลความงดงามของธรรมชาติในบริเวณอ่างเก็บน้ำ อันเป็นผลพลอยได้จากการสร้าง ‘เขื่อนรัชชประภา’

......เขื่อนรัชชประภาเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่ 2 ของภาคใต้ที่ได้สร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและชาวจังหวัดใกล้เคียง ใช่เพียงแค่การทำหน้าที่หลักคือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ป้องกันอุทกภัย บรรเทาปัญหามลพิษทางน้ำ และเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนให้เกษตรกรทำไร่นา ทำประมงได้ตลอดทั้งปีเท่านั้น แต่ความงามและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในเขื่อน รวมถึงทัศนียภาพมหัศจรรย์ของอ่างเก็บน้ำสีมรกตที่รายล้อมด้วยขุนเขารูปร่างแปลกตา ยังสามารถเชื้อเชิญผู้คนให้หลั่งไหลมาสัมผัสและจับจ่ายมากถึงปีละเกือบ 200,000 คนเลยทีเดียว... อีกทั้งปีนี้รัฐบาลและจังหวัดยังคงเร่งผลักดันการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทีมงานเมืองคนดีจึงได้เดินทางมาพูดคุยกับ ‘คุณดิลก ธโนศวรรย์’ ผู้อำนวยการเขื่อน ถึงเรื่องราวดีๆ ที่เขื่อนได้ดำเนินการสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด และเมื่อสบโอกาสดีอย่างนี้ เราย่อมไม่ยอมพลาดการพูดคุยถึงการดำเนินชีวิตที่นำพาความสำเร็จและความภาคภูมิใจมาสู่ตัวของคุณดิลกและครอบครัวด้วย

องค์กรมีธรรมาภิบาลนำบุคลากรสู่ความสำเร็จ
.....หลังจากการต้อนรับที่อบอุ่นและพูดคุยสัพเพเหระพอหอมปากหอมคอจนกาแฟพร่องไปค่อนถ้วย...คุณดิลกก็เริ่มรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งยังเด็กว่า...เขาเกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ  ในครอบครัวที่มีเชื้อสายจีน คุณพ่อของเขายึดอาชีพค้าขายตามความถนัดที่มีอยู่ในสายเลือดและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของครอบครัว โดยมีคุณแม่เป็นช้างเท้าหลังที่เข้มแข็งเพราะต้องเลี้ยงลูกมากถึง 8 คน พร้อมกับเล่าถึงสิ่งที่หล่อหลอมให้ตัวเขาเป็นเช่นที่เป็นจนนำพาความสำเร็จในอาชีพการงานมาสู่ตนเองในวันนี้ว่า...“พวกเราพี่น้อง 8 คนมีพี่สาวคนโตเป็นผู้หญิงอยู่คนเดียว นอกนั้นเป็นชายล้วนครับ (ยิ้ม) ตัวผมเป็นคนที่ 3 เด็กๆ พ่อแม่จะปลูกฝังลูกๆ อย่างมากเป็นพิเศษในเรื่องความขยันอดทน และตัวท่านเองก็ทำให้เราเห็นทุกวัน ผมได้เห็นทั้งสิ่งดีที่ท่านเพียรพยายามทำ และได้เห็นผลลัพธ์ที่ดีจากการทำสิ่งนั้น ผมจึงติดนิสัยนั้นมาจากท่านซึ่งเป็นสิ่งทีมีค่ามากสำหรับผม (ยิ้ม) เพราะที่ชีวิตสำเร็จมาได้ทุกวันนี้ก็ด้วยความขยันอดทนเป็นหลักครับ คนเราถ้ามี 2 อย่างนี้ก็จะนำสิ่งดีอื่นๆ ตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นความพยายาม ความรับผิดชอบ และมีวุฒิภาวะในการรับมือกับอุปสรรคต่างๆ ...ตั้งแต่เด็กผมจะเป็นคนรักการอ่านครับ การเรียนจึงจัดอยู่ในระดับดี ผมเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรโยธาจากสถาบันพระจอมเกล้า ธนบุรี (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) จากนั้นก็สมัครงานไปทั่ว ผมสนุกกับการทำงานเอกชนอยู่ประมาณ 2 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็เรียกตัวสารภาพตามตรงว่าตอนนั้นผมยังลังเลเพราะงานเอกชนมีรายได้ดีพอสมควร แต่พ่อกับแม่อยากให้ทำงานการไฟฟ้าเพราะมองว่าเป็นหน่วยงานที่มั่นคง ที่ทำงานก็อยู่ใกล้บ้าน ผมก็ตามใจท่านเพราะอยากเห็นท่านมีความสุข ซึ่งเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อบุพการีทางหนึ่งครับแต่เมื่อเข้ามาทำงานผมก็พบว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้เข้ามาในองค์กรนี้ เพราะผมได้เรียนรู้สิ่งที่มีค่ามากกว่าความขยันอดทน นั่นคือหลักธรรมาภิบาล (ยิ้ม) ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ทำงานมา ผมไม่เคยพบเห็นใครในองค์กรมีนอกมีใน เรามีแต่ความโปร่งใส ทุกคนเติบโตด้วยฝีมือ ด้วยความสามารถในการรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่การวิ่งเต้น ตัวผมเองจะเข้าพบนายก็ต่อเมื่อมีเรื่องจำเป็นเท่านั้น ผมได้พิสูจน์ว่าคนเราสามารถไต่เต้าก้าวหน้าด้วยความสามารถไปตามลำดับจนมาถึงจุดสูงสุดในอาชีพได้โดยไม่ต้องใช้วิธีอื่น องค์กรที่มีธรรมภิบาลสูงจะขับเคลื่อนบุคลากรภายในองค์กรนั้นๆ ให้ดึงศักยภาพที่แท้จริงออกมาจนกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าทั้งต่อตัวเอง ต่อสังคม และต่อประเทศ... ผมเริ่มต้นงานโดยบรรจุในตำแหน่งวิศวกร ประจำอยู่ที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรีครับ จากนั้นก็ขยับมาเป็นหัวหน้ากองโยธา ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานมากคือแค่ 4 วันก็จะครบ 20 ปี (ยิ้ม) แล้วก็ย้ายมาเป็นหัวหน้ากองโยธาที่เขื่อนวชิราลงกรณ ต่อมาก็มาประจำที่เขื่อนรัชชประภา นี่เป็นลักษณะปกติขององค์กรเราที่จะมีการโยกย้ายไปประจำที่นั่นที่นี่ครับ ชีวิตการงานของผมจะวนเวียนอยู่ที่ 3 เขื่อนนี้ ผมมาประจำอยู่ที่เขื่อนรัชชประภาครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2546 มาประจำครั้งที่ 2 ในตำแหน่งรองผอ. ในปี 2550 ครั้งนี้อยู่นาน 4 ปี แล้วได้กลับมารับตำแหน่งผอ.เขื่อนรัชชประภาเมื่อตุลาคม 2557 นี่เป็นการกลับมาครั้งที่ 3 ครับ (ยิ้ม) สมัยหนุ่มๆ ผมไฟแรงมาก (ยิ้ม) ผมจะพยายามทำงานในหน้าที่รับผิดชอบหรือตามที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จโดยเร็ว ผมจะบอกเพื่อนฝูงอยู่เสมอว่ายิ่งเราทำงานเสร็จเร็วเท่าไร เราก็จะได้ทำงานชิ้นใหม่เร็วขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้ตัวเราและองค์กรเดินหน้าไปได้เร็วด้วย แต่ต้องมีความรอบคอบที่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าประสงค์ได้ด้วยนะครับ เดี๋ยวนี้ผมก็ยังนำหลักการนี้มาสอนน้องๆ อยู่ (ยิ้ม) นอกเหนือจากความขยันอดทนแล้ว เรายังต้องมีความเสียสละเวลาส่วนตนเพื่อผู้อื่นด้วย เพราะงานของเราไม่มีวันหยุดนะครับ ต้องพร้อมเสมอสำหรับการทำงานแม้เป็นวันเสาร์-อาทิตย์ บางครั้งก็ต้องรับรองแขกทั้งในองค์กรของเราเองและแขกบ้านแขกเมือง บางครั้งก็ต้องไปพบปะผู้บริหารท้องถิ่นหรือชาวบ้านเพื่อการประสานงานร่วมกันในการสร้างประโยชน์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นกับท้องถิ่นครับ”


....บริหารจัดการน้ำเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ทราบกันดีว่าหน้าที่หลักของเขื่อนก็คือการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน แต่เขื่อนมีการดำเนินการอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะยังไม่เห็นภาพชัดนัก อีกทั้งในช่วงเวลาปีสองปีนับจากนี้มีการคาดการณ์จากนักวิชาการด้านภูมิอากาศโลกว่าประเทศไทยและเพื่อนบ้านใกล้เคียงจะต้องเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งที่หนักหน่วงที่สุดในรอบหลายสิบปี สถานการณ์ของสุราษฎร์ฯ จะเป็นเช่นไร นั่นเป็นเรื่องที่หลายคนยังกังวล โดยเฉพาะเกษตรกรทั้งหลาย... 
“โดยปกติจะมีศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ เป็นผู้ประสานงานเรื่องการระบายน้ำของเขื่อน ผมจะเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า เขื่อนก็เหมือนตุ่มน้ำใบหนึ่งที่เราเก็บน้ำไว้ใช้ทั้งในการเกษตรกรรม และอุปโภคบริโภคในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ ตุ่มจะมีระดับสูงสุดที่สามารถเก็บได้อยู่จุดหนึ่ง เราเรียกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวบน ถ้ามีน้ำไหลเข้าตุ่มมากเกินกว่าจุดสูงสุดที่สามารถเก็บได้ ตุ่มก็จะต้องรับน้ำหนักไว้เยอะซึ่งเป็นอันตรายเพราะตุ่มอาจจะแตกได้ และน้ำก็จะล้นจากตุ่มไปท่วมพื้นที่รอบข้างให้เกิดความเสียหาย เราจึงต้องปล่อยน้ำออกเมื่อเกินระดับ ซึ่งก็คือการเปิดประตูระบายน้ำล้น (spillway) ขณะเดียวกันตุ่มก็จะมีระดับต่ำสุดหรือที่เรียกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวล่าง จุดนี้จะบอกเราว่าถ้าน้ำในตุ่มมีต่ำกว่าระดับนี้จะมีความเสี่ยงเรื่องขาดแคลนน้ำในปีหน้า หน้าที่ของเราคือควบคุมไม่ให้ระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวล่างในช่วงฤดูแล้ง ในช่วงฤดูฝนเราจึงต้องเก็บน้ำให้มากที่สุดและบริหารจัดการน้ำเข้าให้พอดีไม่สูงเกินระดับ เพื่อจะได้ไม่ต้องเปิด spillway หมายความว่าในหน้าฝนเราจะเก็บเท่าที่จะเก็บได้เพื่อปล่อยออกไปใช้ในหน้าแล้งที่ฝนน้อยครับ และเราจะมีระบบโทรมาตรเพื่อตรวจสอบระดับน้ำไปถึงปากแม่น้ำตาปีเลย โดยจะมีจุดเฝ้าระวังที่สังเกตได้ตลอดเวลาว่าน้ำในแม่น้ำต่ำหรือสูงไปแล้วนะ เราต้องบริหารจัดการน้ำโดยปล่อยน้ำจากเขื่อนลงไปเพื่อไม่ให้น้ำต่ำเกิน จะได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน การปล่อยน้ำจากเขื่อนยังทำเพื่อการรักษาคุณภาพน้ำด้วย เพราะจะไปผลักดันน้ำเค็มจากทะเลและบรรเทาน้ำเสียได้ แต่ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยพบน้ำในแม่น้ำต่ำเกินครับ มีแต่สูงเกิน เมื่อสูงเขื่อนก็ต้องหยุดปล่อยน้ำ เพื่อให้ระดับน้ำในแม่น้ำคงที่อยู่ในระดับปลอดภัย สำหรับที่เขื่อนรัชชประภามีข้อจำกัดอยู่ข้อหนึ่งคือ แม่น้ำพุมดวงจะมีคลอง 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือคลองสก คลองแสงและคลองยัน เขื่อนของเรากั้นแค่คลองแสง ดังนั้นในบางช่วง ยกตัวอย่างในเดือนมีนาคม ปี 54 ที่เกิดวิกฤติภูมิอากาศจนทำให้ฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ตอนนั้นผมเป็นผู้ช่วยอยู่ที่นี่ ทางเขื่อนได้หยุดการปล่อยน้ำตั้งแต่วันแรกที่ฝนตกและหยุดปล่อยต่อเนื่อง 10 กว่าวัน แต่ที่เกิดอุทกภัยนั่นเป็นน้ำที่ไหลมาจากเขาสกครับ ไม่ใช่จากเขื่อนปล่อยออกไป ตอนนั้นเขื่อนรับน้ำจากคลองสกที่ไหลเข้ามาจนเต็มเพียบถึงท้ายเขื่อน แต่เราก็ยังยันไว้ ระหว่างนั้นก็ประสานกับจังหวัดและหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นว่าทางเขื่อนจะไม่ปล่อยน้ำจนกว่าจะไม่ไหวจริงๆ ช่วงนั้นพวกเราก็ทำงานกันหนักมากครับ ทั้งไปช่วยชาวบ้านและเฝ้าระวังน้ำกันตลอด 24 ชม. โชคดีว่าหลังจากนั้นน้ำเริ่มลด แล้วสถานการณ์ก็ดีขึ้นตามลำดับ  ส่วนในปีนี้ที่มีข่าวว่าแล้งมาก แต่ภาคใต้ยังคงโชคดีกว่าภาคอื่นครับ เพราะภูมิประเทศและภูมิอากาศของภาคใต้มีความชื้นสูง ปีที่ผ่านมาก็มีฝนมากพอสมควร ทำให้สถานการณ์น้ำของเราในปีนี้อยู่ในจุดที่น่าพอใจมากครับ ในช่วงปลายปีที่แล้วเขื่อนรัชชประภามีน้ำอยู่ในอ่างเก็บน้ำประมาณ 85.44% สามารถปล่อยน้ำได้วันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถ้าเทียบกับเขื่อนในภาคกลางและภาคเหนือจะมีน้ำน้อยกว่านี้มาก ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าปีนี้ลุ่มแม่น้ำพุมดวงจะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งครับ”

กฟผ.กับการพัฒนาท้องถิ่น 
.....นอกจากทำหน้าที่หลักที่ว่ามาแล้ว การสนับสนุนนโยบายของจังหวัดในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะการสร้างการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน สามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ยาวนาน และในฐานะที่ดูแลเขื่อนอยู่มากมายหลายแห่งทั่วประเทศซึ่งแต่ละแห่งต่างก็มีทัศนียภาพของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจึงเน้นการส่งเสริมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยที่เขื่อนรัชชประภาก็ได้มีการดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง ซึ่งคุณดิลกได้เล่าว่า... 
“เราเชื่อว่าเมื่อสามารถอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ได้ เสน่ห์ของธรรมชาติก็จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาหาเราเอง และยังมัดใจให้เดินทางมาซ้ำอีกด้วย ซึ่งจะทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดยั่งยืน อย่างที่เขื่อนรัชชประภาตอนนี้เราได้จัด ‘โครงการอ่างสวยน้ำใส’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลรักษาอ่างเก็บน้ำให้คงความเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์มากที่สุด กิจกรรมที่เราทำต่อเนื่องมาหลายปีก็คือการสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวเรื่องการไม่ทิ้งขยะ โดยการชักนำเยาวชนทั้งในและนอกพื้นที่มาร่วมกันเก็บขยะและให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ถูกต้องแก่ประชาชนไปด้วย โดยเราร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรคลองคะโดยหารือกับหัวหน้าส่วนราชการ ครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แล้วทำกิจกรรมร่วมกันครับ นอกจากนี้ผมยังได้นำนโยบายแบ่งพื้นที่ดูแลเข้ามาใช้ เพราะมองว่าลำพังฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเขื่อนอย่างเดียวไม่สามารถลงไปดูแลชาวบ้านรอบบริเวณเขื่อนได้ทั่วถึง  การแบ่งพื้นที่นี้เราเรียกเพื่อความเข้าใจในเขื่อนว่าการแบ่งพื้นที่สีโดยผมจะให้หัวหน้าระดับกองต่างๆ ลงไปช่วยดูแลพื้นที่ตามสีที่ได้รับมอบหมาย ที่เขื่อนรัชชประภานี้เราแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 พื้นที่ 4 สีครับ โดยในพื้นที่อำเภอบ้านตาขุนซึ่งเป็นที่ตั้งเขื่อนเราแบ่งพื้นที่เป็น 2 พื้นที่ 2 สี อำเภอพนม 1 พื้นที่ 1 สี และอำเภอคีรีรัฐฯ 1 พื้นที่ 1 สี การแบ่งพื้นที่สีและแบ่งความรับผิดชอบอย่างนี้ก็เพื่อให้มีผู้ประสานงานโดยตรงกับพื้นที่ เมื่อพื้นที่มีปัญหาเราจะรับรู้และร่วมช่วยเหลือหรือแก้ไขได้รวดเร็ว ส่งผลให้ปัญหาการร้องเรียนลดน้อยลงไปด้วย วิธีการลงพื้นที่นั้นเราจะจัดทำ Social Mapping  หรือแผนที่สังคม โดยส่งบุคลากรของเราลงไปพบชาวบ้านเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม คล้ายๆ กับการทำรีเสิร์ชนั่นแหละครับเราจะบันทึกทั้งข้อเท็จจริง และบทวิเคราะห์สั้นๆ ลงไป ในแผนที่สังคมจะมีทุกอย่างตั้งแต่ขอบเขตของชุมชน โครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง จำนวนและที่่ตั้งของครัวเรือน สถานที่สำคัญ แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ความสัมพันธ์ภายในชุมชน การถ่ายเทองค์ความรู้หรือทรัพยากร ความต้องการและอื่นๆ ซึ่งหลายครั้งการทำ Social Mapping ก็ยังไปช่วยให้ชาวบ้านรู้จักตัวเองว่าที่แท้จริงเขาต้องการอะไร หรือทิศทางของเขาควรไปทางไหน ถ้าพบว่ามีเรื่องใดที่เราทำได้ เราจะลงไปมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาเท่าที่เราจะทำได้ครับในด้านของการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในเขื่อนนั้นผมต้องขออธิบายให้เข้าใจก่อนว่าองค์กรของเราได้จัดสร้างสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่พัก สโมสร หรือสนามกีฬาไว้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้งานของบุคลากรภายในองค์กรเป็นหลักครับ เพราะหนึ่งในนโยบายที่การไฟฟ้าให้ความสำคัญมากก็คือการดูแลบุคลากรให้มีวิถีชีวิตและสุขภาพที่ดีซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานที่มากคุณภาพ เนื่องจากบุคคลกรของเราบางส่วนไม่ใช่คนท้องที่ และที่ตั้งของเขื่อนก็มักอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมากซึ่งปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  แต่เพื่อให้เป็นประโยชน์มากขึ้นและสนับสนุนนโยบายของจังหวัดเรื่องการส่งเสริมการ ท่องเที่ยว เราจึงเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีโอกาสมาใช้บริการด้วยโดยจัดเก็บอัตราค่าบริการถูกมาก  อย่างที่สนามกอล์ฟรัชชประภาปัจจุบันจะมีนักท่องเที่ยวจากภูเก็ตเหมารถมาออกรอบเป็นประจำ ส่วนใหญ่จะมาออกรอบ 2-3 วัน บางกรุ๊ปก็พักในเขื่อน แต่บางกรุ๊ปก็ไปพักในอ่างเก็บน้ำ หรือไปเที่ยวที่อ่างเก็บน้ำหรือไปแวะอุทยานฯ เขาสก นี่ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยว
เดินทางไปเที่ยวยังสถานที่ใกล้เคียงด้วย และสำหรับชาวสุราษฎร์ฯ ถ้าจะมาใช้บริการของเขื่อนไม่ว่าจะเป็นส่วนใดเราจะมีส่วนลดให้ เพราะต้องการคืนความสุขให้กับชาวสุราษฎร์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ครับ
นอกจากนี้เขื่อนยังได้มีการพัฒนาสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วย เพราะวันนี้เราเปิด AEC แล้ว และผมเชื่อว่าเขื่อนรัชชประภาจะยิ่งมีนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้น เราจึงมีการพูดคุยกับหน่วยงานรัฐและฝ่ายบริหารท้องถิ่นเพื่อจัดทำป้ายบอกทางเพิ่มเติมโดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ และปรับปรุงสถานที่ให้รองรับผู้พิการได้ เช่น ทำทางลาดสำหรับรถเข็นผู้พิการทั้งในบ้านพัก อาคารรับรอง และตรงจุดจอดรถต่างๆ  ปรับปรุงห้องน้ำสำหรับผู้พิการเพิ่มเติมทั้งในตัวอาคาร บ้านพัก และบริเวณจุดชมวิวสันเขื่อน พร้อมทั้งจัดทำห้องละหมาดไว้ที่นี่ด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่เป็นมุสลิมซึ่งมีจำนวนมาก และเปิดให้ใช้งานไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วครับ”

สุขได้เพราะเลือกเป็น
ด้านชีวิตส่วนตัวคุณดิลกและภรรยาต่างทำงานที่ กฟผ. ขณะนี้
ภรรยาของเขาประจำอยู่ที่เขื่อนศรีนครินทร์ การทำงานในองค์กรเดียวกันทำให้ทั้งคู่มีความเข้าอกเข้าใจกันในเรื่องการทุ่มเทเวลาให้กับการทำงาน นับตั้งแต่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันจนกระทั่งทายาททั้ง  2 คนเติบใหญ่คุณดิลกจึงสามารถออกไปทำหน้าที่ทัพหน้าโดยมีภรรยาทำหน้าที่ทัพหลังอย่างขันแข็งด้วยความยินดี ซึ่งก็เป็นวิถีที่พ่อและแม่ของเขาได้ปฏิบัติสำเร็จมาก่อนหน้า
“การเลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่ของภรรยาเป็นหลักครับ ส่วนผมก็มุ่งมั่นทำงานสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว สำหรับลูกผมจะหาโอกาสสอนเขาเสมอว่าชีวิตเป็นของเขาเอง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเองจะเลือก ถ้าเลือกทำเรื่องดี ชีวิตย่อมเดินไปสู่ความดี ผมบอกเขาว่าพ่อแม่ให้ได้เต็มที่ที่สุดก็คือส่งเสียให้เรียนเท่าที่เขาต้องการเท่านั้น แล้วผมจะสนับสนุนให้ลูกอ่านหนังสือตั้งแต่เขายังเล็กทุกวันหยุดผมจะพาไปซื้อหนังสือ จะเป็นหนังสือการ์ตูนหรืออะไรก็ได้ผมไม่ว่า แต่เมื่อซื้อมาแล้วต้องอ่านให้จบ ผมยังเชื่อมั่นว่า
การอ่านช่วยเปิดโลกทัศน์ เมื่อเจอสถานการณ์จริงเราจะเรียนรู้กับเหตุการณ์ตรงหน้าและรับมือหรือแก้ปัญหาได้เร็วกว่าคนที่ไม่เคยรู้อะไรเลย..ส่วนชีวิตของผมแต่ไหนแต่ไรมาก็อุทิศให้กับงาน จะว่างก็ตอนเย็น ซึ่งพอนึกจะไปตีกอล์ฟก็ไม่รู้จะตีกับใครแล้ว เพราะเขาออกรอบกันไปหมดแล้ว (หัวเราะ) หลายคนเคยถามผมว่าเอาแต่ทำงานหนักแบบนี้ไม่เครียดหรือ....ผมใช้วิธีมองทุกอย่างว่ามีเหตุจึงเกิดผล เหตุใดจะก่อให้เกิดผลเสียก็อย่าไปทำมัน พยายามเรียนรู้และมองธรรมชาติอย่างที่มันเป็น ยกตัวอย่างเช่น ใจของมนุษย์เราจะบังคับใจใครให้คิดหรือทำแบบเราไม่ได้ทุกเรื่อง และคนอื่นก็บังคับเราไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะไม่ให้วุ่นวายใจเราต้องปล่อยวางผมไม่ยึดติดเรื่องใจคน แต่สิ่งที่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบต้องทำให้ดีที่สุด คิดแบบนี้ก็สนุกกับงานได้ครับ...”


การเลือกทำดี ย่อมนำไปสู่สิ่งที่ดีเสมอ’ และชีวิตของเขาคนนี้ก็คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าประโยคนี้เป็นจริง

FaceBook : นิตยสาร "เมืองคนดี
https://www.facebook.com/mkd999/
LINE ID : mkd999
TEL : 084 940 2289


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น